omniture

การตรวจเลือดหาโรคอัลไซเมอร์อาจช่วยปรับปรุงการวินิจฉัยในระดับปฐมภูมิ เร่งการรับสมัครผู้ร่วมงานวิจัย และลดระยะเวลารอคอย

Alzheimer's Association
2024-07-29 04:02 107

ประเด็นสำคัญ

  • การตรวจเลือดที่ตรวจพบการเปลี่ยนแปลงในสมองที่เป็นลักษณะเฉพาะของโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างแม่นยำและเชื่อถือได้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสู่การตรวจจับและวินิจฉัยที่ง่ายขึ้น แม่นยำมากขึ้น และเร็วขึ้น ซึ่งอาจมาแทนที่วิธีการปัจจุบันที่มีราคาแพง รุกล้ำร่างกาย และไม่สะดวกในการเข้าถึง
  • การตรวจเลือดมีความแม่นยำประมาณ 90% ในการระบุโรคอัลไซเมอร์ในผู้ป่วยที่มีอาการทางความคิดความจำที่พบในการรักษาระดับปฐมภูมิและคลินิกดูแลความจำเฉพาะทาง โดยในงานวิจัยนี้ แพทย์ปฐมภูมิมีความแม่นยำ 63% และแพทย์เฉพาะทางมีความแม่นยำ 73% เมื่อไม่ใช้การตรวจเลือด
  • เมื่อได้รับการยืนยันแล้ว การตรวจเลือดอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับสมัครผู้เข้าร่วมการทดลองทางคลินิกเพื่อวิจัยโรคอัลไซเมอร์ และลดระยะเวลารอคอยในการประเมินโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างมาก

ฟิลาเดลเฟีย, 29 กรกฎาคม 2567 /PRNewswire/ -- ผลการวิจัยครั้งใหม่ที่รายงานในงานประชุมนานาชาติของสมาคมอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Association International Conference® หรือ AAIC®) ประจำปี 2567 ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย และออนไลน์ เปิดเผยว่า ขณะที่การตรวจเลือดที่มีความแม่นยำสูงเพื่อหาโรคอัลไซเมอร์กำลังจะถูกนำมาใช้ในคลินิกแพทย์ งานวิจัยใหม่ชี้ว่าการตรวจนี้อาจปฏิวัติความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค และเปิดทางสู่การเข้าร่วมงานวิจัยและการรักษาที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น

รายงานข้อเท็จจริงและตัวเลขเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ ปี 2567 (2024 Alzheimer's Disease Facts and Figures) เปิดเผยว่า ภาวะสมองเสื่อมมักไม่ได้รับการวินิจฉัยเท่าที่ควร และแม้จะได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ ผู้ป่วยหลายคนก็ยังไม่ทราบหรือไม่เข้าใจผลการวินิจฉัยของตน การตรวจเลือดหาโรคอัลไซเมอร์กำลังแสดงให้เห็นในงานวิจัยว่า สิ่งนี้เพิ่มความแม่นยำและความมั่นใจในการวินิจฉัยของแพทย์ได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังช่วยให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นและเป็นพื้นฐานให้สื่อสารได้ดีขึ้น

การตรวจเลือดที่มีแนวโน้มสดใสที่สุดในการหาการเปลี่ยนแปลงในสมองที่เกี่ยวข้องกับอัลไซเมอร์นั้น คือการตรวจโปรตีน phosphorylated tau (p-tau) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของโรคอัลไซเมอร์ที่สามารถสะสมก่อนที่ผู้ป่วยจะแสดงอาการบกพร่องทางการรู้คิด การเพิ่มขึ้นของตัวบ่งชี้เฉพาะ p-tau217 เมื่อเวลาผ่านไปนั้นมีความสัมพันธ์กับความเสื่อมถอยทางการรู้คิดและการฝ่อของสมอง การตรวจ p-tau217 ยังสามารถทำนายความเป็นไปได้ของการสะสมของกลุ่มแผ่นอะไมลอยด์ในสมอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของโรคอัลไซเมอร์ และเป็นเป้าหมายของการรักษาที่ได้รับการอนุมัติล่าสุด

"การตรวจเลือดนั้น เมื่อ (ก) ได้รับการยืนยันในประชากรกลุ่มใหญ่ว่ามีความแม่นยำมากกว่า 90% และ (ข) มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ก็แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการปรับปรุง และอาจถึงขั้นปฏิวัติกระบวนการคัดเลือกผู้เข้าร่วมการทดลองทางคลินิก รวมถึงขั้นตอนการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์" ดร. Maria C. Carrillo ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์และผู้นำด้านการแพทย์ของสมาคมอัลไซเมอร์ กล่าว "แม้ในขณะนี้ แพทย์ในระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิควรใช้การทดสอบทางความคิดความจำร่วมกับการตรวจเลือดหรือตัวบ่งชี้ทางชีวภาพอื่น ๆ ในการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ แต่การตรวจเลือดมีศักยภาพที่จะเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรก และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า"

เมื่อพิจารณาใช้การตรวจเลือด ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องการใช้งานที่เหมาะสมสำหรับตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในเลือดเพื่อหาโรคอัลไซเมอร์ของสมาคมอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Association Appropriate Use Recommendations for Blood Biomarkers in Alzheimer's Disease) อย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยแนะนำบุคลากรทางการแพทย์ในการนำการตรวจเลือดหาโรคอัลไซเมอร์มาใช้ในการปฏิบัติงานทางคลินิก ทางสมาคมฯ ได้จัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญทางคลินิกและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และกำลังเป็นผู้นำในการจัดทำแนวปฏิบัติทางคลินิกสำหรับการใช้ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในเลือดเพื่อหาโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งจะมีการเปิดตัวครั้งแรกในงาน AAIC ประจำปี 2567

การตรวจเลือดช่วยปรับปรุงการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ทั้งในระดับปฐมภูมิและโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

งานวิจัยขนาดใหญ่ที่เพิ่งเปิดเผยครั้งแรกในงาน AAIC ประจำปี 2567 แสดงให้เห็นว่า การตรวจเลือดสามารถตรวจจับโรคอัลไซเมอร์ได้แม่นยำกว่าทั้งแพทย์ปฐมภูมิและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ใช้วิธีวินิจฉัยแบบดั้งเดิม

ในการศึกษานี้ ผู้ป่วย 1,213 คนได้รับการตรวจด้วยวิธี PrecivityAD2 (เรียกว่า "APS2") ซึ่งใช้การผสมผสานระหว่าง (1) อัตราส่วน plasma phosphorylated-tau217 เทียบกับที่ไม่ใช่ phosphorylated-tau217 (เรียกว่า %p-tau217) และ (2) อัตราส่วนของอะไมลอยด์สองชนิด (Aβ42/Aβ40) ผลปรากฏว่าวิธีนี้มีประสิทธิภาพเหนือกว่าการวินิจฉัยโดยแพทย์อย่างมีนัยสำคัญ

  • ในกลุ่มผู้ป่วย 698 คนที่เข้ารับการตรวจที่คลินิกความจำ APS2 มีความแม่นยำประมาณ 90% ในการระบุโรคอัลไซเมอร์ ในขณะที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีความแม่นยำ 73%
  • ในกลุ่มผู้ป่วย 515 คนที่เข้ารับการตรวจในระดับปฐมภูมิ APS2 ก็มีความแม่นยำประมาณ 90% เช่นกัน ส่วนแพทย์ปฐมภูมิมีความแม่นยำ 63% ในการระบุโรคอัลไซเมอร์

นักวิจัยพบว่าการตรวจ APS2 มีความแม่นยำสูงแม้ในผู้ป่วยที่มีโรคร่วม เช่น โรคไต ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยสูงอายุที่มาพบแพทย์ปฐมภูมิ

"ที่น่าสนใจคือ ผลลัพธ์เหล่านี้ได้มาจากตัวอย่างเลือดที่ส่งไปวิเคราะห์ทุกสองสัปดาห์จากหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งคล้ายคลึงกับการปฏิบัติทางคลินิกทั่วไป" ดร.นพ. Sebastian Palmqvist หัวหน้าคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัย Lund University ประเทศสวีเดน กล่าว "ผลลัพธ์นี้น่าประทับใจเป็นพิเศษ เมื่อพิจารณาว่าผู้สูงอายุที่มารับบริการในระดับปฐมภูมิมักมีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลหรือทำให้ระดับของ p-tau217 แปรปรวนได้"

"เราถือว่านี่เป็นก้าวสำคัญสู่การนำการตรวจเลือดหาโรคอัลไซเมอร์ไปใช้ในทางคลินิกทั่วโลก" ดร.นพ. Oskar Hansson ผู้นิพนธ์หลัก จากมหาวิทยาลัย Lund University เช่นกัน กล่าวเสริม "สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ เพื่อให้วินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ขั้นตอนต่อไปคือการกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนว่าจะนำการตรวจเลือดหาโรคอัลไซเมอร์มาใช้ในทางคลินิกอย่างไร โดยควรเริ่มนำมาใช้ในการดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญก่อน แล้วจึงขยายไปสู่ระดับปฐมภูมิ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ"

งานวิจัยที่รายงานในการประชุม AAIC นี้ได้รับทุนสนับสนุนบางส่วนจากสมาคมอัลไซเมอร์ และได้รับการตีพิมพ์พร้อมกันในวารสาร Journal of the American Medical Association

งานวิจัยชี้ การตรวจเลือดอาจช่วยคัดกรองผู้ที่ยังไม่มีอาการทางสมองเพื่อเข้าร่วมการทดลองทางคลินิกได้

การนำผู้ที่อยู่ในระยะเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์มารวมเข้าในการทดลองทางคลินิก อาจช่วยค้นพบวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่อาการยังน้อยหรือยังไม่ปรากฏได้ โดยงานวิจัยที่นำเสนอในงาน AAIC ประจำปี 2567 พบว่า การตรวจเลือดหา p-tau217 อาจเป็นเครื่องมือคัดกรองที่ง่ายและแม่นยำในการระบุผู้ที่ยังไม่มีอาการทางสมอง แต่อาจมีการสะสมของกลุ่มแผ่น amyloid-beta ในสมองแล้ว

นักวิจัยได้วิเคราะห์ตัวอย่างจากผู้เข้าร่วมที่ยังไม่มีอาการทางสมอง 2,718 ราย จากการศึกษา 10 โครงการ โดยมีข้อมูลการตรวจ plasma p-tau217 และการตรวจภาพ amyloid-beta PET หรือตัวอย่าง CSF ผลพบว่า plasma p-tau217 สามารถทำนาย (ด้วยช่วง 79-86%) ความเป็นไปได้ที่คนที่ยังไม่มีอาการทางสมองจะมีผลบวกต่อพยาธิสภาพของ amyloid-beta จากการตรวจ PET หรือตัวบ่งชี้ทางชีวภาพใน CSF ได้ โดยการเพิ่มผลจากการตรวจ CSF หรือ PET หา amyloid beta หลังจากได้ผลบวกจากการตรวจเลือดนั้น จะช่วยเพิ่มค่าทำนายผลบวกให้สูงถึง 90% หรือมากกว่า ซึ่งเพิ่มความมั่นใจในการประเมินการมีอยู่ของอะไมลอยด์ในสมองโดยใช้การตรวจ plasma p-tau217

"หากตัวเลขเหล่านี้คงที่และได้รับการยืนยันซ้ำโดยห้องปฏิบัติการอิสระอื่น ๆ วิธีนี้อาจช่วยลดความจำเป็นในการเจาะน้ำไขสันหลังและการตรวจ PET เพื่อวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ลงได้ถึง 80 หรือแม้แต่ 90%" ดร. Gemma Salvadó ผู้นำการศึกษาและนักวิจัยร่วมจากมหาวิทยาลัย Lund University กล่าว "ผลการวิจัยของเราสนับสนุนว่า การพบ plasma p-tau217 เป็นบวกเพียงอย่างเดียว อาจเพียงพอในการคัดเลือกผู้เข้าร่วมที่ยังไม่มีอาการทางสมองแต่มีอะไมลอยด์เป็นบวก สำหรับการทดลองทางคลินิกหลาย ๆ โครงการ"

การตรวจเลือดอาจลดระยะเวลารอการวินิจฉัยและรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างมาก

การรักษาโรคอัลไซเมอร์ที่ได้รับการอนุมัตินั้น มีข้อบ่งใช้สำหรับผู้ที่มีภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อยจากโรคอัลไซเมอร์ หรือภาวะสมองเสื่อมจากอัลไซเมอร์ระยะเริ่มต้น และต้องมีการยืนยันการมีอยู่ของ amyloid-beta ในสมอง ดังนั้น การสำรวจหาผู้ที่อาจได้รับประโยชน์จากการรักษาตั้งแต่ระยะแรกของโรคจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ปัจจุบัน การตรวจวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์อย่างครอบคลุมมักมีระยะเวลารอคอยนาน เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านอัลไซเมอร์มีจำนวนจำกัด และการเข้าถึงการตรวจ PET หรือความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ CSF ยังไม่เท่าเทียมกัน

งานวิจัยที่นำเสนอในงาน AAIC ประจำปี 2567 ชี้ว่า การใช้การตรวจเลือดที่มีประสิทธิภาพสูงในระดับปฐมภูมิอาจช่วยหาผู้ที่มีแนวโน้มป่วยเป็นอัลไซเมอร์ได้เร็วขึ้นมาก ทำให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาได้ว่าพวกเขามีคุณสมบัติเหมาะสมกับการรักษาแบบใหม่หรือไม่

นักวิจัยใช้แบบจำลองการคาดการณ์ที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อทำนายระยะเวลารอคอยสำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการรักษา โดยคำนึงถึงทั้งจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอัลไซเมอร์ที่มีอยู่จำกัดและประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น แบบจำลองนี้รวมถึงการคาดการณ์ประชากรสหรัฐฯ อายุ 55 ปีขึ้นไปตั้งแต่ปี 2566 ถึง 2575 และเปรียบเทียบสองสถานการณ์ด้วยกัน สถานการณ์แรกคือแพทย์ปฐมภูมิจะตัดสินใจว่า จะส่งต่อผู้ป่วยไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านอัลไซเมอร์โดยอิงจากผลการทดสอบความคิดความจำอย่างสั้นหรือไม่ ส่วนสถานการณ์ที่สองคือจะพิจารณาผลการตรวจเลือดประสิทธิภาพสูงด้วย โดยสันนิษฐานว่าจะมีการตรวจเลือดให้กับผู้ที่มีผลเป็นบวกต่อภาวะบกพร่องทางการรู้คิดระยะแรกในการดูแลระดับปฐมภูมิ และการส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญจะอิงตามผลการตรวจนี้

แบบจำลองชี้ว่า ภายในปี 2576 ผู้คนจะต้องรอเฉลี่ยเกือบ 6 ปี (70 เดือน) กว่าจะทราบว่าพวกเขามีคุณสมบัติเหมาะสมกับการรักษาอัลไซเมอร์แบบใหม่หรือไม่ หากแพทย์ปฐมภูมิใช้เพียงแค่การประเมินความคิดความจำอย่างสั้นในการส่งต่อ แต่หากมีการใช้การตรวจเลือดเพื่อคัดกรองโรคอัลไซเมอร์ออก ระยะเวลารอเฉลี่ยจะลดลงเหลือเพียง 13 เดือนสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เนื่องจากจะมีผู้ป่วยที่ต้องพบผู้เชี่ยวชาญน้อยลงมาก นักวิจัยยังพบว่า หากมีการใช้ทั้งการตรวจเลือดและการประเมินความคิดความจำอย่างสั้นในระดับปฐมภูมิเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ของการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์แล้ว ระยะเวลารอเพื่อทราบคุณสมบัติสำหรับการรักษาแบบใหม่จะลดลงเหลือไม่ถึง 6 เดือนโดยเฉลี่ย เนื่องจากความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านอัลไซเมอร์ลดลง และมีศักยภาพเพิ่มขึ้นสำหรับการตรวจ CSF หรือ PET

"ผลการวิจัยของเราชี้ว่า การใช้การตรวจเลือดเพื่อหาผู้ที่อาจเป็นผู้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจสร้างความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในการรักษาผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ระยะแรก" ดร.นพ. Soeren Mattke ผู้นำการศึกษาและผู้อำนวยการศูนย์สังเกตการณ์สุขภาพสมอง มหาวิทยาลัย University of Southern California ในลอสแองเจลิส กล่าว "ปัจจุบัน ผู้ป่วยที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกำลังพลาดโอกาสในการรักษา เพราะต้องใช้เวลานานมากในการรับการวินิจฉัย โดยการตรวจเลือดที่ใช้งานง่ายอาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้"

เกี่ยวกับการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (AAIC®)

การประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Association International Conference® หรือ AAIC) เป็นการประชุมเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ โดยนักวิจัยจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม รวมถึงให้การสนับสนุนชุมชนนักวิจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

โฮมเพจของ AAIC 2024: www.alz.org/aaic/

ห้องข่าวของ AAIC 2024: www.alz.org/aaic/pressroom.asp
แฮชแท็ก AAIC 2024: #AAIC24

เกี่ยวกับสมาคมโรคอัลไซเมอร์

สมาคมโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Association®) เป็นองค์กรอาสาสมัครด้านสุขภาพชั้นนำของโลก ซึ่งอุทิศตนให้กับการดูแลรักษา การสนับสนุน และการวิจัยโรคอัลไซเมอร์ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการกำจัดโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมให้หมดไป ด้วยการสนับสนุนการวิจัยระดับโลก การลดความเสี่ยงของการเกิดโรค การวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงการยกระดับคุณภาพการดูแลรักษา เพื่อทำให้โลกของเราปราศจากโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมทั้งหมด สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ alz.org หรือโทรสายด่วน 800.272.3900

  • ดร.นพ. Sebastian Palmqvist และคณะ การประเมินการใช้ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในเลือดสำหรับโรคอัลไซเมอร์ ทั้งในระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ (Evaluation of the prospective use of blood biomarkers for Alzheimer's disease in primary and secondary care) (ผู้ให้ทุน: Alzheimer's Association และ National Institute of Aging)
  • ดร. Gemma Salvadó และคณะ การใช้ plasma p-tau217 เป็นวิธีคัดกรองเบื้องต้นเพื่อตรวจหาผลบวกของ amyloid-PET ในผู้เข้าร่วมที่ยังไม่มีอาการทางสมอง: การศึกษาแบบหลายศูนย์ (ผู้ให้ทุน: Alzheimer's Association, European Union's Horizon 2020 Research and Innovation Program under Marie Sklodowska-Curie action, Alzheimerfonden, Strategic Research Area MultiPark)
  • ดร.นพ. Soeren Mattke และคณะ ผลลัพธ์ของการตรวจเลือดประสิทธิภาพสูงต่อระยะเวลารอการพิจารณาคุณสมบัติสำหรับการรักษาโรคอัลไซเมอร์ที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคในสหรัฐอเมริกา (ผู้ให้ทุน: C2N Diagnostics)

*** ข่าวประชาสัมพันธ์จากงาน AAIC ประจำปี 2567 หรือ AAIC 2024 อาจมีข้อมูลล่าสุดที่อาจไม่ตรงกับรายละเอียดที่ระบุไว้ในบทคัดย่อต่อไปนี้

โลโก้ - https://mma.prnasia.com/media2/2470275/AAIC24_rgb_Logo.jpg?p=medium600

Source: Alzheimer's Association
Keywords: Health Care/Hospital Medical/Pharmaceuticals Clinical Trials/Medical Discoveries
Related News