ปักกิ่ง, 17 พ.ย. 2567 /PRNewswire/ -- "จากชางใคสู่เซี่ยงไฮ้" ได้กลายเป็นคำขวัญยอดนิยมในเปรู หลังจากท่าเรือชางใค (Chancay Port) ซึ่งเป็นโครงการเรือธงภายใต้ "โครงการสายแถบและเส้นทาง" (BRI) ที่จีนริเริ่มขึ้น ได้จัดพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
เมกะโปรเจกต์มูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์นี้ เตรียมเข้ามาปฏิวัติการค้าในภูมิภาค ด้วยความสามารถในการรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และลดระยะเวลาการขนส่งลงอย่างมาก โดยในเฟสแรกนั้นจะสามารถลดเวลาการขนส่งทางทะเลจากเปรูไปจีนเหลือเพียง 23 วัน และลดต้นทุนโลจิสติกส์ลงได้อย่างน้อย 20%
ท่าเรือแห่งใหม่นี้มีท่าเทียบเรือ 4 จุด ความลึกสูงสุด 17.8 เมตร รองรับเรือคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่พิเศษที่บรรทุกคอนเทนเนอร์ขนาดยี่สิบฟุต (TEU) ได้ถึง 18,000 ตู้ ท่าเรือนี้ได้รับการออกแบบให้มีขีดความสามารถในการรองรับสินค้าปีละ 1 ล้าน TEU ในระยะแรก และ 1.5 ล้าน TEU ในระยะยาว ส่งผลให้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญระหว่างลาตินอเมริกากับเอเชีย
Xi Jinping ประธานาธิบดีจีน ได้กล่าวในบทความที่ท่านได้ลงนามเอาไว้ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันพฤหัสบดีในสื่อเปรูอย่าง El Peruano ว่า โครงการท่าเรือชางใคคาดว่าจะสร้างรายได้ให้เปรูถึงปีละ 4.5 พันล้านดอลลาร์ และสร้างงานโดยตรงกว่า 8,000 ตำแหน่ง
ประธานาธิบดี Xi และประธานาธิบดี Dina Boluarte ผู้นำเปรู ได้เข้าร่วมพิธีเปิดท่าเรือชางใคผ่านระบบวิดีโอลิงก์เมื่อวันพฤหัสบดี
ประธานาธิบดี Xi กล่าวในพิธีเปิดว่า "จากชางใคสู่เซี่ยงไฮ้ สิ่งที่เรากำลังเห็นไม่ใช่แค่การหยั่งรากและเบ่งบานของโครงการสายแถบและเส้นทางในเปรูเท่านั้น แต่ยังเป็นการกำเนิดประตูการค้าแห่งใหม่ที่เชื่อมโยงทั้งทางบกและทางทะเล เชื่อมเอเชียและลาตินอเมริกาเข้าด้วยกัน"
ประธานาธิบดี Xi เดินทางถึงเปรูเมื่อวันพฤหัสบดีเพื่อเยือนประเทศอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 31 นับเป็นการเยือนทวีปนี้ครั้งที่ 6 ของท่านนับตั้งแต่ปี 2556
ปฏิวัติพลวัตการค้าในภูมิภาค
ประธานาธิบดี Xi เปิดเผยว่า ท่าเรือชางใคไม่เพียงเป็นท่าเรือน้ำลึกที่ดีเท่านั้น แต่ยังเป็นท่าเรืออัจฉริยะและท่าเรือสีเขียวแห่งแรกในอเมริกาใต้ด้วย
ท่าเรือนี้ตั้งอยู่บนทำเลยุทธศาสตร์ในฐานะประตูสู่แปซิฟิกของเปรู เชื่อมต่อกับทางหลวงแพนอเมริกันผ่านอุโมงค์ ทำให้เข้าถึงกรุงลิมา เมืองหลวงของเปรูได้โดยตรง ในฐานะ "ทางด่วนทางทะเล" สายแรกสู่ลาตินอเมริกา ท่าเรือนี้จะช่วยให้การขนส่งสินค้าส่งออกของเปรู เช่น แครนเบอร์รีและอะโวคาโด ไปยังตลาดเอเชียเร็วขึ้นและมีต้นทุนที่ต่ำลง
Raul Perez Reyes รัฐมนตรีคมนาคมเปรู กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า "เรามีเป้าหมายในการเป็นสิงคโปร์แห่งลาตินอเมริกา เพื่อให้สินค้าที่จะไปเอเชียต้องผ่านที่นี่ เมื่อใครก็ตามจากบราซิล เวเนซุเอลา โบลิเวีย ปารากวัย และอาร์เจนตินา ต้องการไปเอเชีย พวกเขาควรนึกถึงเปรูเป็นจุดเริ่มต้น"
การก่อสร้างท่าเรือชางใคสอดคล้องอย่างลงตัวกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการค้าระหว่างจีนกับลาตินอเมริกา
นอกจากนี้ เปรูได้ริเริ่มแผนพัฒนาเครือข่ายรถไฟและทางหลวงเชื่อมต่อท่าเรือชางใคกับเมืองสำคัญทั่วประเทศ โดยมีแผนที่จะเชื่อมต่อกับเครือข่ายคมนาคมในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคในอนาคต และสามารถรองรับการส่งออกถั่วเหลือง แร่เหล็ก เนื้อแช่แข็งจากบราซิล กาแฟ อะโวคาโดจากโคลอมเบีย และสินค้าอื่น ๆ ไปยังเอเชียผ่านเส้นทางการค้าใหม่นี้
David Gamero รองผู้จัดการโครงการท่าเรือชางใค กล่าวว่า "ท่าเรือชางใคจะช่วยเปรูพัฒนาประสิทธิภาพการขนส่งทางเรือและกระชับความร่วมมือทางการค้ากับเอเชีย" และเสริมว่านอกเหนือจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยตรงแล้ว ท่าเรือขนาดใหญ่นี้จะผลักดันการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าด้านโลจิสติกส์ของลาตินอเมริกา และส่งเสริมการเติบโตทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม สร้าง "ผลกระทบทวีคูณ"
ประธานาธิบดี Xi เคยยกเปรูเป็น "เพื่อนบ้านของจีนฝั่งตรงข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก" และอ้างบทกวีโบราณของจีนเพื่อสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศในลาตินอเมริกาและแคริบเบียนว่า "มิตรแท้ย่อมรู้สึกใกล้ชิดกันเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลกันเพียงใด"
เมื่อท่าเรือชางใคเปิดดำเนินการ จะสามารถผนวกรวมทั้งภูมิภาคลาตินอเมริกาเข้ากับกรอบเศรษฐกิจที่มีพลวัตของเอเชียแปซิฟิก เพื่อช่วยเสริมสร้างการเชื่อมต่อทั้งภายในและภายนอกทวีป
กระชับความร่วมมือจีน-ลาตินอเมริกา
โครงการสายแถบและเส้นทาง (BRI) ที่จีนเสนอขึ้นในปี 2556 ได้ผนวกภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนเข้ามาในปี 2560
รายงานของคณะกรรมการอำนวยการโครงการสายแถบและเส้นทางระบุว่า ณ ปี 2566 มี 22 ประเทศในภูมิภาคนี้ได้ลงนามในเอกสารความร่วมมือ BRI กับจีน โดยมีโครงการสำคัญ ๆ รวมถึงสายส่งไฟฟ้าแรงสูงพิเศษของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Belo Monte ในบราซิล ทางรถไฟ Belgrano Cargas ในอาร์เจนตินา และอื่น ๆ
นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี 2555 จีนได้กลายเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับสองของลาตินอเมริกา โดยในปี 2566 มูลค่าการค้ารวมระหว่างจีนกับประเทศในแถบลาตินอเมริกานั้นสูงกว่า 4.89 แสนล้านดอลลาร์
ผู้เชี่ยวชาญเปิดเผยว่า การลงทุนและการสนับสนุนทางเทคนิคจากจีนกำลังช่วยให้ประเทศในลาตินอเมริกาเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ และได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาประเทศซีกโลกใต้ ทั้งยังแสดงความคาดหวังว่า การเข้าร่วมประชุมเอเปคของประธานาธิบดี Xi จะช่วยเสริมแรงผลักดันเชิงบวกให้กับการรวมกลุ่มและความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
Rafael del Campo Quintana รองประธานสมาคมผู้ส่งออกเปรู กล่าวว่า เอเปคไม่เพียงแต่เป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงเปรู ได้บูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกอย่างลึกซึ้ง