omniture

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งฟิลิปปินส์เชิญชวนภาคธุรกิจทบทวนกลยุทธ์ CSR สู่การสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคม

Philippine Board of Investments
2018-08-08 12:51 3443

มะนิลา, ฟิลิปปินส์—8 ส.ค.—พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แห่งฟิลิปปินส์ ขอเชิญชวนภาคธุรกิจฟิลิปปินส์ใช้ข้อได้เปรียบจากแผนส่งเสริมการลงทุน Investment Priorities Plan (IPP) ประจำปี 2560-2562 ที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจเกื้อกูลสังคม หรือ ธุรกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Business หรือ IB) เพื่อยกระดับโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่มีอยู่เดิม ไปเป็นโมเดลธุรกิจที่มีความยั่งยืน ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งฟิลิปปินส์เดินหน้าตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2558-2573 ของสหประชาชาติ (UN) โดยได้เน้นย้ำบทบาทอันสำคัญยิ่งของภาคเอกชนในการกำจัดปัญหาความยากจนให้หมดไป

เซเฟริโน โรดอลโฟ ปลัดกระทรวงการค้าฟิลิปปินส์ และหัวหน้าผู้จัดการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า "CSR เป็นวิธีการดั้งเดิมที่ภาคเอกชนเลือกใช้เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้ โดยเมื่อเปลี่ยนจากการทำ CSR ไปเป็นโมเดลธุรกิจแบบมีส่วนร่วมแล้ว เหล่าผู้ประกอบการก็จะสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้ ในรูปแบบที่จะช่วยให้ธุรกิจของตนเติบโตและสร้างผลลัพธ์อันดีต่อสังคมในคราวเดียวกัน"

เมื่อเปรียบเทียบกับการทำ CSR ที่ไม่ได้เน้นการทำกำไรแล้ว โมเดลธุรกิจแบบมีส่วนร่วมนั้นเป็นการบ่มเพาะชุมชนให้ทำหน้าที่เป็นซัพพลายเออร์และหุ้นส่วนทางธุรกิจ เพื่อให้ชุมชนเหล่านี้มีแหล่งรายได้เพื่อการครองชีพที่มั่นคงยิ่งขึ้น

ข้อมูลจาก Business+ ซึ่งเป็นโครงการวิจัยร่วมระหว่าง BOI กับศูนย์ Istanbul International Center for Private Sector in Development (IICPSD) ในสังกัดโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ระบุว่า บริษัทต่าง ๆ สามารถสร้างโมเดลธุรกิจแบบมีส่วนร่วมได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าบริษัทนั้นจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก

วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 99.57% ของธุรกิจทั้งหมดของฟิลิปปินส์ มีความยืดหยุ่นมากกว่าในการปรับตัวเข้ากับโมเดลธุรกิจแบบมีส่วนร่วม ขณะเดียวกัน โมเดลธุรกิจแบบมีส่วนร่วมในบริษัทขนาดใหญนั้นมีศักยภาพให้ผลลัพธ์ที่ครอบคลุมกว่า

ในการรวมชุมชนยากไร้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจนั้น ห่วงโซ่มูลค่านับเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างโมเดลธุรกิจแบบมีส่วนร่วม ขณะที่การพัฒนาทักษะก็ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อความยั่งยืนของธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น ซัพพลายเออร์ขนาดเล็กจำเป็นที่จะต้องได้รับการฝึกอบรมในด้านการตลาด ความเป็นผู้ประกอบการ และการเงิน เพื่อพัฒนาทักษะและรับประกันคุณภาพในการจัดหาสินค้า นอกจากนี้ Business+ ยังได้เสนอแนะให้มีการประสานความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งมอบประสบการณ์การเรียนรู้เหล่านี้

อย่างไรก็ดี การที่ธุรกิจแบบมีส่วนร่วมจะเฟื่องฟูได้นั้น การมีสภาพแวดล้อมด้านการกำกับดูแลที่เกื้อหนุนนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น ฟิลิปปินส์ ที่ได้เสนอมาตรจูงใจสำหรับโมเดลธุรกิจแบบมีส่วนร่วมที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตามที่กำหนด ทั้งนี้ ภายใต้แผนส่งเสริมการลงทุน IPP นั้น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจการเกษตร ที่ผนวกรวมวิสาหกิจขนาดย่อมและรายย่อยเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าของตน อาจจะได้รับการยกเว้นภาษีเป็นเวลา 5 ปี

นอกจากนี้ โมเดลธุรกิจแบบมีส่วนร่วมยังได้ปรากฏอยู่ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของฟิลิปปินส์ด้วย เช่น ภาคสุขภาพ การเงิน และพลังงาน เป็นต้น

"ในการที่จะสร้างโมเดลธุรกิจแบบมีส่วนร่วมนั้น ภาคธุรกิจจะต้องมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในระดับหนึ่ง ซึ่งการเปลี่ยนผ่านจาก CSR ไปเป็น IB จะเปิดโอกาสให้บริษัทต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมในความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้พัฒนาความรู้และความสามารถที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจของตนต่อไป" โรดอลโฟกล่าว

Source: Philippine Board of Investments
Keywords: Banking/Financial Service Workforce Management/Human Resources Corporate Social Responsibility
Related News