เซี่ยงไฮ้--25 ต.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
หัวเว่ย ประกาศเปิดตัว IoT Cloud Service 2.0 อย่างเป็นทางการที่งาน HUAWEI CONNECT 2018 และเผยแผนกลยุทธ์ IoT ของบริษัท เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน IoT และสร้างระบบนิเวศขึ้น ผ่านการขยายการเชื่อมต่อ บริการคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งหัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ IoT ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม และเปิดทางสู่การพลิกโฉมอุตสาหกรรมสู่ระบบดิจิทัล
รายงาน Global Industry Vision (GIV) 2025 โดยหัวเว่ย ระบุว่า จำนวนอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1 แสนล้านเครื่องในปี 2025 ขณะที่การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่มีมูลค่าสูงจะเพิ่มขึ้นมากในการใช้งานเชิงอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันข้อมูลที่สร้างขึ้นจากการตระหนักรู้และการรับรู้ต่อทุกสิ่งจะถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมการใช้งาน IoT ในภาคอุตสาหกรรม ปรับปรุงประสิทธิภาพของอุตสาหกรรม และการกระตุ้นการยกระดับอุตสาหกรรม
ข้อกำหนดที่สำคัญสำหรับการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน IoT ได้แก่ การขยายการเชื่อมต่อ เพิ่มประสิทธิภาพบริการคลาวด์ และพัฒนาขีดความสามารถของ AI หัวเว่ยตั้งเป้าที่จะทำให้ทุกสิ่งเชื่อมต่อถึงกันอย่างเชื่อถือได้ พร้อมสนับสนุนการเปิดตัวบริการได้อย่างรวดเร็วและสามารถเข้าถึงได้ทั่วโลกผ่านบริการคลาวด์ ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถของ AI สำหรับหุ้นส่วนอุตสาหกรรม เพื่อสร้างรายได้จากการใช้งาน IoT ซึ่งหัวเว่ยสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่บริษัทพัฒนาขึ้นตลอด 30 ปีที่ผ่านมา
ขยายการเชื่อมต่อ: เปิดทางทุกสิ่งเชื่อมต่อถึงกันอย่างเชื่อถือได้
การเชื่อมต่อถือเป็นรากฐานของ IoT ดังนั้นเพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงปลอดภัย หัวเว่ยไม่เพียงตั้งเป้าที่จะขยายจำนวนการเชื่อมต่อเท่านั้น แต่ยังคงแสวงหาการเชื่อมต่อที่จัดการและควบคุมได้ เพื่อสามารถบรรลุโครงข่ายการครอบคลุมที่ต่อเนื่อง วิวัฒนาการความก้าวหน้าที่ราบรื่น ความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือตลอดทั้งเครือข่าย โดย NB-IoT ของหัวเว่ยมีจุดเด่นอยู่ที่การใช้พลังงานต่ำ ครอบคลุมที่กว้างขวาง และความจุขนาดใหญ่ ตลอดจนสนับสนุนวิวัฒนาการความก้าวหน้าสู่ระบบ 5G อย่างราบรื่น นอกจากนี้ หัวเว่ยยังสร้างระบบนิเวศแบบเปิดและพร้อมใช้งาน รวมถึงจัดหาโซลูชั่นความปลอดภัยแบบครบวงจร ครอบคลุมชิปเซ็ต/ระบบปฎิบัติการ การรับส่งข้อมูล และแพลตฟอร์ม IoT โดยจำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม IoT ของหัวเว่ยในปัจจุบันเพิ่มขึ้นแตะระดับ 200 ล้านเครื่องทั่วโลก ในจำนวนนี้มีอุปกรณ์ IoT ถึง 90 ล้านเครื่องที่เชื่อมต่อกับบริการ e-Surfing Cloud ของบริษัท China Telecom และอุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐาน Smart City อีก 1 ล้านเครื่องเชื่อมต่อกันในทั่วทุกมุมโลก
ยกระดับบริการคลาวด์: หนุนให้บริการ IoT อย่างแพร่หลาย
ในอนาคต ความต้องการการเชื่อมต่อ IoT จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นกุญแจสำคัญในการยกระดับบริการคลาวด์ IoT ก็คือการทำให้ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงบริการได้ทุกที่ทุกเวลา การผนึกกำลังกันระหว่างแพลตฟอร์ม OceanConnect IoT และ OceanConnect Edge จะมอบการเชื่อมต่อที่ครอบคลุมทั่วถึง บริการที่ยืดหยุ่น การบริหารจัดการที่เป็นหนึ่งเดียว ความร่วมมือด้านบริการ และการผสานข้อมูลที่เป็นไปได้ ซึ่งจะช่วยต่อยอดขยายบริการคลาวด์ IoT จากศูนย์เครือข่ายสู่เครือข่ายเอดจ์
ยกระดับขีดความสามารถ AI : แปลงโฉมคุณค่าใหม่ให้ IoT
ข้อมูลจำนวนมากที่ได้รับผ่านการเชื่อมต่อต้องอาศัยการวิเคราะห์อัจฉริยะเพื่อสร้างมูลค่า ระบบอัจฉริยะเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการสร้างรายได้จาก IoT "ความอัจฉริยะ" เป็นอัลกอริทึมในระดับศูนย์เครือข่าย เอดจ์ และการรับรู้อุปกรณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างอุปกรณ์กับระบบอัจฉริยะนั้นเปรียบเหมือนอวัยวะรับสัมผัสกับมนุษย์ กล่าวคือ ดวงตาเป็นเครื่องมือที่สำคัญและมีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับมนุษย์ในการรับข้อมูล ดังนั้น ในฐานะที่เป็นดั่ง "ดวงตา" สำหรับโลกอัจฉริยะที่ทุกสิ่งเชื่อมต่อถึงกัน กล้องอัจฉริยะจึงกลายเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าในการรับข้อมูลสำหรับการใช้งาน IoT เชิงอุตสาหกรรม โดยช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้สร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น หัวเว่ยลงทุนอย่างมากกับชิปเซ็ต AI กล้องอัจฉริยะที่กำหนดโดยซอฟต์แวร์ การวิเคราะห์วิดีโอแบบเอดจ์ และแพลตฟอร์ม OceanConnect AI ทั้งนี้ ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถของ AI ดังกล่าว หัวเว่ยจะสามารถช่วยให้หุ้นส่วนอุตสาหกรรมสร้างรายได้จากการใช้งาน IoT ในรูปแบบต่างๆ
หัวเว่ยเปิดตัว IoT Cloud Service 1.0 (DMP และ AEP) ที่งาน HUAWEI CONNECT 2017 และเพื่อให้ลูกค้าในอุตสาหกรรมใช้ประโยชน์จากศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐาน IoT (การเชื่อมต่อ ระบบคลาวด์ และระบบอัจฉริยะ) ของหัวเว่ยได้สะดวกยิ่งขึ้น หัวเว่ยจึงเปิดตัว IoT Cloud Service 2.0 ซึ่งมีการปรับปรุงหลักๆ สามประการด้วยกัน ได้แก่
ประการแรก สำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องการการพลิกโฉมธุรกิจสู่ระบบดิจิทัล หัวเว่ยนำเสนอชุดซอฟต์แวร์อุตสาหกรรมมาตรฐานแบบครบวงจร (pre-integrated) และแพลตฟอร์มสำหรับบริการคลาวด์ อาทิ Connected Vehicle, Intelligent Transportation, Smart City และ Smart Campus หุ้นส่วนอุตสาหกรรมสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันที่เป็นนวัตกรรมได้อย่างยืดหยุ่นและรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถสำรวจสถานการณ์หรือรูปแบบการใช้งานเพิ่มเติม เพื่อหาโซลูชั่นอุตสาหกรรมใหม่ๆ และมีคุณค่า ด้วยการผนวกรวมความสามารถด้าน AI
ประการที่สอง เพื่อขยายการเชื่อมต่อให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น หัวเว่ยได้เปิดตัวบริการคลาวด์แบบ Lightweight ได้แก่ IoT Hub ซึ่งเป็นบริการด้านการจัดการอุปกรณ์น้ำหนักเบาที่มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้ ซึ่งช่วยให้อุปกรณ์ IoT สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายได้ง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้น ในแนวทางที่คุ้มค่า
ประการที่สาม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เหล่าพันธมิตรในระบบนิเวศ หัวเว่ยได้เปิดตัว OceanConnect Market สำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ การจัดแสดง และการค้า โดยมาพร้อมกับเครื่องมือการพัฒนา การเปิดตัว และเครื่องมือ O&M ต่างๆ
ไมเคิล หม่า ประธาน Cloud Core Network Product Line ของหัวเว่ย กล่าวว่า "หัวเว่ยหวังว่าจะได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อทำให้การใช้งาน IoT ในภาคอุตสาหกรรมนั้นเป็นไปได้อย่างสะดวก พร้อมขยายตลาดด้วยการผนวกรวมเทคโนโลยี IoT และระบบอัจฉริยะเข้าด้วยกัน หัวเว่ยและพันธมิตรของเราสามารถมาร่วมกันเพื่อเป็นผู้สนับสนุนและผู้ขับเคลื่อนโลกอัจฉริยะที่ทุกสิ่งเชื่อมต่อกันอย่างเต็มรูปแบบ"
HUAWEI CONNECT 2018 เป็นงานประชุมประจำปีสำหรับอุตสาหกรรม ICT และเป็นงานใหญ่ระดับโลกของหัวเว่ย สำหรับงานในปีนี้จัดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 10-12 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีวัถุประสงค์เพื่อสร้างแพลตฟอร์มแบบเปิดที่สนับสนุนความร่วมมือและแบ่งปันระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้ลูกค้าได้หารือถึงวิธีการคว้าโอกาสใหม่ๆ และสรรสร้างอนาคตที่ชาญฉลาดขึ้น
รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://www.huawei.com/cn/press-events/events/huaweiconnect2018?ic_medium=hwdc&ic_source=corp_banner_allwayson&source=corp_banner