omniture

Amorepacific Museum of Art เตรียมเปิดนิทรรศการ "FOREVER" งานแสดงเดี่ยวครั้งแรกในเอเชียของ Barbara Kruger

- จัดนิทรรศการเฉลิมฉลองครบรอบ 1 ปีของพิพิธภัณฑ์ Amorepacific Museum of Art ในย่านยงซาน ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน ถึง 29 ธันวาคมนี้
- เตรียมจัดแสดงงานศิลป์ 44 ชิ้น โชว์ผลงานทั้งหมดที่ศิลปินแนวคอนเซ็ปชวลชื่อดังระดับโลกอย่าง Barbara Kruger ได้สร้างสรรค์ขึ้นตลอดเวลากว่า 40 ปี
Amorepacific Museum of Art
2019-06-26 13:21 646

โซล, เกาหลีใต้—26 มิ.ย.—พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

พิพิธภัณฑ์ Amorepacific Museum of Art มีความยินดีในการเปิดนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในเอเชียของศิลปินผู้เป็นเจ้าแห่งศิลปะร่วมสมัยชื่อดังระดับโลกอย่าง Barbara Kruger งานจัดแสดงนี้จะมีชื่อว่า "BARBARA KRUGER: FOREVER" โดยจะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน ถึง 29 ธันวาคมนี้ ณ พิพิธภัณฑ์ Amorepacific Museum of Art ในย่านยงซานของกรุงโซล

โปสเตอร์ APMA Barbara Kruger Exhibition FOREVER
โปสเตอร์ APMA Barbara Kruger Exhibition FOREVER

พิพิธภัณฑ์ Amorepacific Museum of Art มีแผนจัดนิทรรศการนี้เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 1 ปีนับตั้งแต่ที่ได้เปิดตัวพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่ย่านยงซาน งานจัดแสดงดังกล่าวจะประกอบด้วยผลงานชิ้นหลัก ๆ ทั้งหมดของ Barbara Kruger ตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เข้ามาสัมผัสสีสันที่แท้จริงของศิลปินรายนี้ ซึ่งได้เข้ามาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดเวลากว่า 40 ปี แต่ยังไม่ทิ้งลีลาและรูปแบบอันเหนียวแน่นและเป็นแบบฉบับ

Barbara Kruger เกิดเมื่อค.ศ. 1945 เป็นศิลปินแนวคอนเซ็ปชวลชาวอเมริกัน เธอผู้นี้ได้สร้างชื่อจากผลงานที่ผสานเทคนิคทางโฆษณาในการวางภาพและข้อความ ศิลปินรายนี้ใช้ฟอนต์อันเป็นสัญลักษณ์สะดุดตา และข้อความที่กระชับแต่ก็แรงกล้า จนสามารถถ่ายทอดประเด็นด้านอำนาจ ความปรารถนา กระแสบริโภคนิยม เพศ และชนชั้นในสื่อมวลชนและกลไกต่าง ๆ ของสังคมร่วมสมัย ผลงานของเธอได้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับกรอบความคิดต่าง ๆ ที่กลายเป็นรากฐานแนวคิดของเรา ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดแบบสากล ความเชื่อ หรือทัศนคติ เพื่อให้ผู้รับชมผลงานคิดได้อย่างอิสระ

นิทรรศการนี้เตรียมจัดแสดงงานศิลป์ 44 ชิ้นเพื่อโชว์ผลงานทั้งหมดของ Barbara Kruger ไม่ว่าจะเป็นผลงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น งานศิลปะจัดวางและทัศนศิลป์ขนาดใหญ่ ศิลปินผู้นี้ยังเตรียมประเดิมเผยโฉมผลงานอักษรฮันกึลเป็นครั้งแรกของโลกในงานนี้ด้วยในชื่อผลงานว่า Untitled (충분하면만족하라) (2019) มากไปกว่านั้น เธอยังได้รังสรรค์ Untitled (Forever) (2017 ซึ่ง Amorepacific Museum of Art เป็นเจ้าของ) ขึ้นใหม่เป็นพิเศษแก่พิพิธภัณฑ์ Amorepacific Museum of Art ด้วย นอกจากนี้ ยังจะมีการจัดแสดงผลงานจากช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 รวมกัน 16 ชิ้นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Your body is a battleground และ We don't need another hero โดยผู้มาเยือนทุกท่านยังจะได้มีโอกาสชมผลงานต้นฉบับของ Barbara Kruger ที่เป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังโลโก้แถบสีแดงของแบรนด์แฟชั่นแนวสตรีทขวัญใจวัยรุ่นทั่วโลกอย่าง 'Supreme'

ข้อมูลโดยสรุป

·  ชื่อนิทรรศการ: BARBARA KRUGER: FOREVER

·  วัน: พฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน – อาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 2019

·  เวลา: 10.00-18.00 น. (จุดจำหน่ายบัตรปิดเวลา 17.30 น.) ปิดทุกวันจันทร์

·  สถานที่: พิพิธภัณฑ์ Amorepacific Museum of Art (ที่อยู่: 100, Hangang-daero, Yongsan-gu, Seoul)

  • ติดต่อ: Amorepacific Museum of Art / โทร: +82-2-6040-2345 / อีเมล: museum@amorepacific.com

·  เว็บไซต์: http://apma.amorepacific.com

  • ผลงานจัดแสดง: งานศิลป์ 44 ชิ้น รวมถึงงานศิลปะจัดวางและทัศนศิลป์ขนาดใหญ่

[แนะนำชิ้นงานจัดแสดง]

1. Untitled (Plenty should be enough) 2018 พิมพ์ดิจิทัลลงวอลเปเปอร์ไวนิล ขนาด 600 x 2,170 ซม.

2. Untitled (충분하면만족하라) 2019 พิมพ์ดิจิทัลลงวอลเปเปอร์ไวนิล ขนาด 600 x 2,170 ซม.

"Plenty should be enough" เป็นประโยคที่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งในผลงานของ Barbara Kruger ซึ่งเธอได้ผนวกรวมประโยคนี้ลงบนงานศิลป์ของตน เพื่อชวนให้มองลงลึกถึงการยึดติดกับคุณค่าทางวัตถุและความปรารถนา ผลงานชิ้นนี้ได้สร้างและติดตั้งขึ้นทั้งในภาษาอังกฤษและเกาหลี ถ้อยคำเหล่านี้ไม่ได้ยิ่งใหญ่ทรงพลังในแง่ของความหมายเท่านั้นแต่ยังในแง่ของขนาดตัวหนังสือที่กินพื้นที่ทั้งกำแพงด้วย โดยคุณ Kruger ได้ใช้สถาปัตยกรรมเพื่อให้การอ่านที่ปกติแล้วเป็นเรื่องที่อยู่นิ่งและเป็นส่วนตัว กลายเป็นประสบการณ์ที่จับต้องได้เมื่อมองจากภายนอก

ผลงาน Untitled (Plenty should be enough), 2018
ผลงาน Untitled (Plenty should be enough), 2018

 

ผลงาน Untitled (충분하면만족하라), 2019
ผลงาน Untitled (충분하면만족하라), 2019

3. Untitled (Forever) 2017 พิมพ์ดิจิทัลลงวอลเปเปอร์ไวนิล ขนาดไม่แน่นอน (570 x 2,870 x 1,830 ซม.)

วอลเปเปอร์ไวนิล Untitled (FOREVER) (2017) ซึ่งศิลปินผู้นี้ได้รังสรรค์ขึ้นใหม่เป็นพิเศษแก่พิพิธภัณฑ์ Amorepacific Museum of Art จะเข้ามาห่อหุ้มห้องที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งแต่พื้นถึงเพดาน เพื่อโอบล้อมผู้ชมด้วยสภาพแวดล้อมที่งุนงงสับสนแต่ชวนให้คิด ผลงานที่จัดแสดงเป็นจุดนี้สะท้อนให้เห็นความสนใจที่คุณ Kruger มีอยู่เป็นเวลานานในเรื่องสถาปัตยกรรมและการขยายขนาดของผลงานจัดแสดง

ผลงาน Untitled (Forever), 2017
ผลงาน Untitled (Forever), 2017

4. Untitled (The_latest_version_of_the_truth) 2018 พิมพ์ดิจิทัลลงไวนิล ขนาด 226.1 x 173 ซม.

ผลงานล่าสุดในการจัดแสดงนี้คือภาพพิมพ์ไวนิลชื่อ Untitled (The latest version of the truth) (2018) ซึ่งเจาะประเด็นการสร้างข้อเท็จจริง อันเป็นประเด็นที่กำลังมาแรงเมื่อประเมินจากสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองในปัจจุบัน

ผลงาน Untitled (The_latest_version_of_the_truth), 2018
ผลงาน Untitled (The_latest_version_of_the_truth), 2018

[เกี่ยวกับ Barbara Kruger]

สถานที่เกิดและที่อยู่ปัจจุบัน

ปี 1945  เกิดที่เมืองนวร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา 

ปัจจุบันอาศัยอยู่ในนครนิวยอร์กและเมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

การศึกษา

ปี 1966  สถาบัน Parsons School of Design นครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ปี 1965  มหาวิทยาลัย Syracuse University เมืองซีราคิวส์ รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

รางวัลและทุนสนับสนุนที่ได้รับ

ปี 2005  รางวัล Golden Lion for Lifetime Achievement จากเวที Venice Biennale ครั้งที่ 51

ปี 1983-84 ทุนสนับสนุนจาก National Endowment for the Arts

ปี 1976-77  ทุนสนับสนุนจาก Creative Artists Service Program

Barbara Kruger เป็นหนึ่งในศิลปินแนวร่วมสมัยที่ทรงอิทธิพลที่สุด ศิลปินผู้นี้ใช้ภาษาภาพอันเป็นเอกลักษณ์ในการสื่อสารกับคนทั่วโลก โดยอาศัยการวางภาพถ่ายสีขาวดำผสานเข้ากับตัวหนังสือพิมพ์หนา ปัจจุบัน เธออาศัยอยู่ในเมืองลอสแอนเจลิสและนิวยอร์กในสหรัฐอเมริกา

Kruger เกิดในครอบครัวฐานะปานกลางที่เมืองนวร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ และได้ศึกษาที่มหาวิทยาลัย Syracuse University ในนิวยอร์ก จากนั้นหนึ่งปี เธอได้ย้ายไปเรียนที่สถาบัน Parsons School of Design ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เธอได้เริ่มใช้ชีวิตในนิวยอร์ก โดยศึกษาผลงานตามรอย Diane Arbus และ Marvin Israel หลังจากนั้นเธอได้ทำงานที่ Conde Nast Publications ในฐานะดีไซเนอร์ประจำนิตยสาร Mademoiselle และได้เลื่อนขึ้นเป็นหัวหน้าดีไซเนอร์ในปีถัดมา จากนั้นเธอได้รับหน้าที่เป็นผู้ตัดต่อภาพถ่ายให้แก่นิตยสาร House and Garden และ Aperture โดยประสบการณ์ในการเป็นดีไซเนอร์ที่เธอได้สั่งสมมาถึง 10 ปีนี้ ได้เข้ามาวางรากฐานเบื้องหลังการสร้างสรรค์ภาษาภาพอันโดดเด่นของเธอ

Kruger ได้เริ่มสายอาชีพศิลปินเมื่อช่วงปี 1969 แต่ผลงานภาพถ่ายขาวดำตัดกรอบสีแดงซ้อนตัวหนังสือพิมพ์หนาซึ่งเป็นงานชิ้นเด่นนี้ ได้กลายเป็นที่พูดถึงในปี 1981 ศิลปินผู้นี้นำภาพที่มักพบในนิตยสารเก่าและแคตตาล็อกภาพถ่ายไปตัดต่อ จากนั้นซ้อนด้วยตัวหนังสือที่มีข้อความแฝงและปลุกระดม เพื่อสะท้อนประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอำนาจและการควบคุม สื่อมวลชนและทุนนิยม การบิดเบือนความจริง และภาพเหมารวมทางเพศ ขณะเดียวกัน สโลแกนที่เข้าใจความหมายได้ทันทีเมื่อพบเห็น เช่น "I shop therefore I am" และ "Your body is a battleground" ยังนำมาซึ่งการล้อเลียนและแสดงความเคารพมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งหมดนี้ได้กลายเป็นเครื่องหมายบ่งชี้ "ความเป็น Kruger"

ลักษณะการใช้ภาษา ประกอบกับสไตล์ผลงานแบบบิลบอร์ดและโฆษณา ทำให้ Kruger มักถูกจับกลุ่มรวมกับบรรดาศิลปินเฟมินิสต์แนวโพสต์โมเดิร์นอย่าง Jenny Holzer, Sherrie Levine, Martha Rosler และ Cindy Sherman อย่างไรก็ดี ผลงานของเธอผู้นี้ไม่ได้มีการจัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์ศิลปะและหอศิลป์ชื่อดังเพียงเท่านั้น แต่ยังปรากฏให้เห็นตามป้ายบิลบอร์ด บัตรรถบัส นิตยสาร หนังสือพิมพ์ โปสเตอร์ สวนสาธารณะ และชานชาลาสถานีรถไฟด้วย การที่ผลงานของเธอเป็นที่พบเห็นตามสื่อต่าง ๆ และมีความใกล้ชิดกับบุคคลทั่วไปนั้น ได้หนุนให้เธอกลายเป็นศิลปินที่หาคนเทียบได้ยาก นอกจากนี้ เธอยังเคยรับรางวัล Golden Lion for Lifetime Achievement จากเวที Venice Biennale ครั้งที่ 51 เมื่อปี 2005 และในปี 2020 ผลงานของเธอยังจะได้รับการจัดแสดงที่สถาบัน Art Institute of Chicago ด้วยเช่นกัน

[ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ Amorepacific Museum of Art]

Amorepacific Museum of Art เริ่มต้นจากคอลเลคชันส่วนตัวที่ประกอบด้วยงานศิลปะและงานเซรามิกที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้หญิง เครื่องสำอาง และชา จากการริเริ่มของผู้ก่อตั้งและอดีตประธานอย่างคุณ Suh Sungwhan (1924-2003) เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมของเกาหลี โดยแรกเริ่มในปี 1979 นั้น พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีชื่อว่า Pacific Museum ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น Amorepacific Museum of Art (APMA) ในปี 2009 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รวบรวมศิลปะทั้งแบบโบราณและร่วมสมัยจากโลกตะวันออกและตะวันตกเข้าไว้ด้วยกัน อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวัฒนธรรมศิลปะ อาทิ การจัดแสดงงานศิลป์ การวิจัย การตีพิมพ์ และอื่น ๆ

Amorepacific Museum of Art ได้เปิดโฉมใหม่ในปี 2018 ณ สำนักงานใหญ่ของ Amorepacific ในย่านยงซานของกรุงโซล พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้ทุกคนได้เข้าชม พร้อมเป็นเวทีให้พิพิธภัณฑ์ ศิลปิน และบุคคลทั่วไปได้มีโอกาสสื่อสารกันด้วยภาษาศิลป์เพื่อมวลมนุษยชาติ โดยในชั้นแรกนั้นจะมีล็อบบี้ขนาดใหญ่และร้านกิ๊ฟช็อปไว้คอยบริการทุกท่าน รวมถึงพื้นที่จัดแสดงงาน "APMA Cabinet" และหอสมุดที่รวบรวมแค็ตตาล็อกการจัดแสดงงานศิลปะจากทั่วโลก (apLAP) สำหรับฮอลล์จัดแสดงงานชั้นใต้ดินนั้นมาพร้อมกับการจัดแสดงงานทุกประเภท และเรื่องราวของศิลปะทั้งแบบโบราณและร่วมสมัยของเกาหลี รวมถึงชิ้นงานศิลปะจากทั่วทุกมุมโลก

สำนักงานใหญ่ของ Amorepacific ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังชาวอังกฤษอย่าง David Chipperfield ซึ่งตั้งใจที่จะแสดงถึงความงดงามของเอกภาวะอันเป็นเอกลักษณ์ของ Amorepacific ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองที่โอบล้อมด้วยตึกระฟ้า โดยสำนักงานใหญ่ของ Amorepacific ไม่ได้ประกอบด้วยอาคารหลาย ๆ อาคาร แต่เป็นอาคารเดี่ยวหลายชั้นที่มีรูปทรงงดงามแต่ทว่าดูเรียบง่าย อาคารแห่งนี้สะท้อนถึงความงามของไหพระจันทร์เคลือบ ซึ่งมีความงดงามโดยไม่ต้องใช้เทคนิคที่ซับซ้อน ส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่ดูสวยงามสบายตา โดยผู้เข้าชมงานจะได้สัมผัสกับการจัดแสดงงานศิลปะที่หลากหลาย ซึ่งรวบรวมผลงานศิลปะจากเกาหลีและต่างประเทศเข้าไว้ด้วยกันใน Amorepacific Museum of Art แห่งนี้

Amorepacific Museum of Art มุ่งมั่นที่จะพัฒนาวัฒนธรรมศิลปะทั้งในเกาหลีและในระดับโลก โดยทางพิพิธภัณธ์จะริเริ่มกิจกรรมใหม่ ๆ เพื่อศึกษาและสนับสนุนงานศิลปะ ผ่านการแนะนำศิลปะโบราณและร่วมสมัยของเกาหลีใต้ให้โลกได้รู้จัก รวมถึงเทรนด์ใหม่ ๆ ในแวดวงศิลปะทั่วโลก

รูปภาพ - https://photos.prnasia.com/prnh/20190612/2494116-1-a 
รูปภาพ - https://photos.prnasia.com/prnh/20190625/2494116-1-b 
รูปภาพ - https://photos.prnasia.com/prnh/20190625/2494116-1-c 
รูปภาพ - https://photos.prnasia.com/prnh/20190625/2494116-1-d 
รูปภาพ - https://photos.prnasia.com/prnh/20190625/2494116-1-e 

Source: Amorepacific Museum of Art
Keywords: Art Future Events
Related News