กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
หัวเว่ยเปิดตัว AirEngine Wi-Fi 6 รุ่นใหม่ 10 รุ่น สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะให้บริการที่ดีกว่าเดิมแก่องค์กร และเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการวางระบบไร้สายเต็มรูปแบบในแคมปัส ในฐานะหลักสำคัญใหม่สำหรับการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นดิจิทัลของภาคธุรกิจองค์กร
ผลิตภัณฑ์หัวเว่ยตระกูล AirEngine Wi-Fi 6 โดดเด่นด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี เช่น เสาอากาศอัจฉริยะแบบดูอัลแบนด์ที่เป็นเอกลักษณ์ของอุตสาหกรรม เทคโนโลยี lossless roaming และ Dynamic Turbo (เทคโนโลยีการเร่งความเร็วแอปพลิเคชันอัจฉริยะ) ในกลุ่มโมเดลใหม่นี้ AirEngine Wi-Fi 6 8760 ซึ่งเป็นรุ่นเรือธง มาพร้อมความสามารถในการรับส่งข้อมูลได้พร้อมกัน (spatial streams) สูงสุดถึง 16 ชุด ซึ่งมากที่สุดในอุตสาหกรรม พร้อมส่งข้อมูลแบบไร้สายด้วยความเร็วสูงสุดถึง 10 Gbps
หัวเว่ยคาดการณ์ว่า องค์กรประมาณ 90% จะใช้งาน Wi-Fi 6 ภายในปี 2566 ทำให้ Wi-Fi กลายเป็นเทคโนโลยีเครือข่ายพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับประสิทธิภาพในการผลิตและบริการขององค์กรในยุคดิจิทัล
Li Xing ประธานฝ่ายโดเมนเครือข่ายแคมปัสประจำกลุ่มผลิตภัณฑ์การสื่อสารข้อมูลของหัวเว่ย กล่าวว่า "จากการที่บริการดิจิทัลใหม่ ๆ ถือกำเนิดขึ้นในองค์กรอย่างต่อเนื่อง ทำให้เครือข่าย Wi-Fi 5 แบบเดิมนั้นต้องพบกับภาวะคอขวด ทำให้ไม่สามารถตอบรับบริการใหม่ ๆ เหล่านี้ได้"
คุณ Li Xing ยังเสริมอีกด้วยว่า "ตัวอย่างเช่น ในแคมปัสสำนักงานไร้สายเต็มรูปแบบ แอปพลิเคชันใหม่ที่แสดงผลด้วย AR, VR และ 4K กำลังทำให้ความสามารถและความเร็วของเครือข่ายเดิมช้าลง เมื่อพูดถึงแคมปัสการผลิต ได้มีการนำเครือข่าย Wi-Fi มาใช้กับเครือข่ายการผลิต แต่ยังไม่สามารถให้การเชื่อมต่อและการส่งผ่านที่จำเป็นได้อย่างน่าเชื่อถือ ในทางกลับกัน แคมปัสสาธารณะที่ใช้เครือข่ายไร้สายเต็มรูปแบบ มักจะมีพื้นที่เปิดกว้างมากขณะที่ผู้ใช้ก็เคลื่อนที่มากเช่นกัน แต่เครือข่ายไร้สายที่มีอยู่ไม่สามารถให้สัญญาณที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และมีแบนด์วิธที่เสถียรพอให้เกิดประสบการณ์ผู้ใช้ที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง"
"เพื่อแก้ปัญหานั้น หัวเว่ยได้เสนอมาตรฐานการก่อสร้างเครือข่ายไร้สายแบบใหม่สำหรับยุค Wi-Fi 6 ซึ่งก็คือการสร้างเครือข่ายแคมปัสไร้สายความเร็วระดับ Gbps อย่างเต็มรูปแบบ ที่ให้ความเร็วสูงในทุกสถานการณ์ ให้ประสบการณ์การเชื่อมต่อที่ต่อเนื่อง และความเร็วระดับ 100 Mbps ในทุกที่" Li Xing สรุป
โดยแท้จริงแล้วเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง 5G, IoT และ AI กำลังเร่งความเร็วในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ โดยศูนย์ข้อมูล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานใหม่นี้ ก็กำลังวิวัฒนาการจากยุคเสมือนเข้าสู่ยุคอัจฉริยะ เพื่อให้ตามทันการวิวัฒนาการดังกล่าว หัวเว่ยยังได้ประกาศเปิดตัวโซลูชัน CloudFabric แบบใหม่หมดที่สร้างมาสำหรับยุคอัจฉริยะ
CloudFabric สร้างบนสวิตช์ CloudEngine รุ่นเรือธง (ฝังชิป AI และมีจำนวนพอร์ต 400GE สูงที่สุด) มีอัลกอริทึม iLossless ที่เป็นเอกลักษณ์ของอุตสาหกรรม รวมถึงระบบจัดการและควบคุมเครือข่ายแบบขับเคลื่อนอัตโนมัติตามมาตรฐาน iMaster NCE ด้วยการใช้งาน Huawei CloudFabric ทำให้ลูกค้าสามารถสร้างเครือข่ายศูนย์ข้อมูลอัลตร้าบรอดแบรนด์รุ่นใหม่ ไม่มีความสูญเสีย และอัจฉริยะแบบครบวงจรได้ง่ายขึ้น เพื่อขับเคลื่อนศูนย์ข้อมูลเข้าสู่ยุคอัจฉริยะ
"การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลขององค์กรต่าง ๆ กำลังเข้าสู่เฟสใหม่ของยุคอัจฉริยะ ที่ซึ่งมีการใช้ AI อย่างกว้างขวางในศูนย์ข้อมูล" Wu Yisheng ผู้อำนวยการฝ่ายโซลูชันอาวุโสจากสำนักงานซีทีโอของกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ของหัวเว่ย กล่าว "CloudFabric ของหัวเว่ยเริ่มไปก่อนเพื่อเป็นกลุ่มแรกที่ทำเครือข่ายศูนย์ข้อมูลทั้งหมดให้มีความอัจฉริยะเต็มรูปแบบ เพื่อนำไปสู่เครือข่ายการขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 3 เป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรม เครือข่ายที่รวมเข้าด้วยระบบอัจฉริยะจะทำให้บริการ AI มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถประเมินมูลค่าข้อมูลได้เต็มที่ และเร่งความสำเร็จทางธุรกิจให้กับองค์กร"
ทั้งนี้ หัวเว่ยได้จัดงาน IP Club Carnival ออนไลน์เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ในธีม "Rethink IP, Building the Engine for Digital Transformation" โดยมีเป้าหมายที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อีเวนต์นี้มีเพื่อช่วยลูกค้าองค์กรสร้างเครื่องมือการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม ในขณะที่เผชิญการแพร่ระบาดในปัจจุบัน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมออนไลน์ที่กระตุ้นการคิดนี้ ประกอบด้วยตัวแทนกว่า 25000 รายจากลูกค้าองค์กรและพันธมิตรจากหลายอุตสาหกรรมด้วยกัน รวมถึงตัวแทนจากภาครัฐ การเงิน พลังงาน การขนส่ง สาธารณสุข และการศึกษา