โซล เกาหลีใต้--23 มิ.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
KT Corp. (KRX: 030200, NYSE: KT) บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ประกาศว่า KT SAT ซึ่งเป็นผู้ประกอบการดาวเทียมในเครือของบริษัท จะปล่อยดาวเทียมใหม่ในปี 2024 เพื่อก้าวเป็นผู้นำของบริการ 5G ในยุคแห่งการสื่อสารจากอวกาศที่กำลังจะมาถึง
ใน "งานประกาศวิสัยทัศน์" ซึ่งจัดขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 50 ปี ที่ศูนย์บริการดาวเทียม Kumsan Satellite Service Center บริษัท KT SAT ซึ่งเป็นผู้ให้บริการการสื่อสารผ่านดาวเทียมหนึ่งเดียวของเกาหลีใต้ ได้เปิดเผยแผนการปล่อยดาวเทียม KOREA SAT 6A อย่างเร็วที่สุดในปี 2024 โดยดาวเทียมดวงดังกล่าวจะเป็นดาวเทียมที่ปล่อยขึ้นสู่อวกาศต่อจาก KOREA SAT 6 ซึ่งจะปลดประจำการในปี 2025 หลังจากให้บริการในอวกาศมาเป็นเวลา 15 ปี
KT กล่าวว่า ดาวเทียมรุ่นใหม่นี้จะมาพร้อมกับเทคโนโลยีดาวเทียมใหม่ล่าสุด รวมถึง "high throughput satellite" (HTS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีดาวเทียมที่สามารถรองรับปริมาณการรับส่งข้อมูลในระดับสูง และ software-defined satellite หรือดาวเทียมที่กำหนดด้วยซอฟต์แวร์ เพื่อรองรับปริมาณการใช้งานหรือ traffic ที่จะพุ่งขึ้นในยุค 5G ที่กำลังจะมาถึง
"การมาถึงของยุคใหม่แห่งการสื่อสารจากอวกาศ จะทำให้การสื่อสารผ่านดาวเทียมผ่านการให้บริการเครือข่ายที่ไร้รอยต่อมีความสำคัญยิ่งขึ้น" Song Kyung Min ประธานและซีอีโอของ KT SAT กล่าว "KT SAT ของเราจะทุ่มเททำงานเพื่อให้เราได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมดาวเทียมในอีก 50 ปีข้างหน้า ด้วยการหันไปมุ่งเน้นการให้บริการแพลตฟอร์มดาวเทียมและการมีส่วนร่วมในโครงการอวกาศของรัฐบาล"
นอกจากนี้ KT SAT ยังเตรียมดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างจริงจังในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกหลังจากที่ปล่อยดาวเทียม KOREASAT 6A ขึ้นสู่อวกาศ โดยมีเป้าหมายที่จะเป็น 1 ใน 5 ผู้ให้บริการดาวเทียมระดับแนวหน้าของเอเชีย ปัจจุบันบริษัทมีให้บริการการเผยแพร่สัญญาณและโทรคมนาคมอยู่ในประเทศเกาะอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย
- KOREASAT 6A รองรับการรับส่งข้อมูลความเร็วสูงยิ่งกว่าที่เคย
HTS รองรับการรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วในระดับที่สูงกว่าดาวเทียมประจำที่ (fixed-satellite service - FSS) แบบดั้งเดิมมากกว่า 10 เท่า ทั้งยังสามารถปรับความครอบคลุมของสัญญาณได้ด้วย โดยเทคโนโลยีทั้งสองนี้มุ่งมอบบริการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อรองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าในยุค 5G
ดาวเทียมใหม่ยังมาพร้อมระบบ Korea Augmentation Satellite System (KASS) ซึ่งเป็นระบบดาวเทียมที่ถูกพัฒนามาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำทาง (Satellite-based Augmentation System - SBAS) ของเกาหลี โดยระบบ SBAS นี้จะช่วยเพิ่มความแม่นยำและความเสถียรของข้อมูลระบบดาวเทียมนำร่องโลก (Global Navigation Satellite System - GNSS) ด้วยการแก้ไขความผิดพลาดในการวัดสัญญาณและการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความแม่นยำ ความต่อเนื่อง และความพร้อมของสัญญาณ
KT SAT จะกำหนดน้ำหนักบรรทุกและเทคโนโลยีสำหรับดาวเทียม KOREASAT 6A ภายในปีนี้และจะเริ่มดำเนินการสร้างดาวเทียมดังกล่าวในปี 2021 โดยดาวเทียมใหม่นี้จะโคจรรอบโลกที่ 116 องศาตะวันออก ซึ่งเป็นลองจิจูดเดียวกันกับดาวเทียม KOREASAT 6
อุตสาหกรรมดาวเทียมของเกาหลีใต้เริ่มต้นขึ้นด้วยการก่อตั้ง Kumsan Satellite Service Center ในปี 1970 และนับตั้งแต่นั้นมาก็ได้มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในด้านบริการข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเฉพาะในด้านโทรศัพท์ระหว่างประเทศและการเผยแพร่สัญญาณดาวเทียม KT SAT จะก้าวสู่ครึ่งหลังของศตวรรษด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำจากภาคเอกชนในยุคใหม่แห่งการสื่อสารจากอวกาศที่กำลังจะมาถึง
- การมีส่วนร่วมในโครงการ GPS
KT SAT จะเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการ KASS ของกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และคมนาคมอย่างจริงจัง โดยโครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายในการสร้างระบบของเกาหลีเพื่อยกระดับความแม่นยำด้านข้อมูล GNSS ซึ่งจะเพิ่มความปลอดภัยในการนำเครื่องบินขึ้นและลงจอดได้อย่างมากด้วยการลดระยะผิดพลาดของ GPS จากระยะ 30 เมตรเป็น 1 เมตร รวมถึงประโยชน์ในด้านอื่น ๆ
โครงการ KASS ต้องใช้ทั้งดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้าและสถานีภาคพื้นดิน ซึ่งขณะนี้ดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้ายังคงอยู่ระหว่างการผลิตภายใต้ความรับผิดชอบของบริษัท KT SAT โดยมีกำหนดการปล่อยขึ้นสู่อวกาศในครึ่งหลังของปี 2021 และจะเริ่มการให้บริการช่วงทดลองในปี 2022
นอกจากนี้ KT SAT ยังจะเข้าร่วมโครงการดาวเทียมสื่อสารเชิงบูรณาการ (integrated communication satellite) เพื่อให้บริการระบบระบุตำแหน่งของเกาหลีหรือ Korea Positioning System (KPS) และเครือข่ายการสื่อสารสาธารณะอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของสาธารณรัฐเกาหลีต่อไป
- การก้าวเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดาวเทียม
วิสัยทัศน์ของ KT SAT ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษนี้ยังรวมถึงการก้าวเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดาวเทียม ขณะที่การดำเนินงานของบริษัทที่ผ่านมามุ่งเน้นการสื่อสารผ่านดาวเทียมเพื่อเสริมกับบริการรีเลย์ภาคพื้นดิน บริษัทจึงตั้งใจจะขยายเครือข่ายดาวเทียมให้ครอบคลุมการสื่อสารในทะเลและในอากาศ ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นจุดบอดในแง่ของโทรคมนาคม
KT SAT มีหุ้นในตลาดเรือพาณิชย์ของเกาหลีใต้ 70% และมีแผนจะเปิดตัวแพลตฟอร์ม Integrated Ocean Platform ในครึ่งแรกของปี 2021 การครองตลาดของบริษัทเป็นผลจากการเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปี ในตลาดการสื่อสารการเดินเรือผ่านดาวเทียม MVSAT (maritime very small aperture terminal) นอกจากนี้ บริษัทยังได้พัฒนาโซลูชั่นมากมาย ได้แก่ อินเทอร์เน็ตสำหรับการใช้งานบนเรือ อีเมลสำหรับการใช้งานบนเรือ โทรทัศน์วงจรปิดสำหรับการใช้งานบนเรือ และการบริหารจัดการเรือ โดยทั้งหมดนี้จะรวมอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวเพื่อบริการที่รวดเร็วตามความต้องการของลูกค้า
- ดาวเทียม 5G สำหรับการเชื่อมต่อแบบ ultra-connectivity ของ core network
KT SAT ได้สร้างสนามทดสอบดาวเทียมที่ Kumsan Satellite Service Center ขึ้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ภายใต้ความร่วมมือกับ KT Institute of Convergence Technology ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยเทคโนโลยีส่วนต่อประสาน (interface) ระหว่างดาวเทียมกับ 5G ซึ่งต้องใช้ในการสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการสื่อสารคุณภาพสูงโดยไม่มีการแบ่งแยกตามภูมิภาค หลังจากเมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีที่ผ่านมา บริษัทได้พัฒนาเทคโนโลยีส่วนต่อประสานระหว่างเครือข่าย 5G เชิงพาณิชย์และเครือข่ายการสื่อสารผ่านดาวเทียมได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก
KT SAT จะดำเนินโครงการวิจัยร่วมระหว่างเกาหลีใต้กับสหภาพยุโรปซึ่งจะเริ่มต้นในครึ่งหลังของปีนี้ และจะศึกษาเกี่ยวกับส่วนต่อประสานระหว่างดาวเทียมกับสถานี 5G
เทคโนโลยีส่วนต่อประสานระหว่างดาวเทียมกับ 5G เมื่อนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ จะก่อให้เกิดการขยายแบนด์วิดธ์ของเครือข่าย ซึ่งจะช่วยให้เกิดบริการ 5G ผ่านดาวเทียมที่ต่อเนื่องราบรื่นในยานพานหานะที่กำลังเคลื่อนที่และในภูมิภาคที่การก่อสร้างเครือข่ายบนพื้นดินเป็นเรื่องยาก การพัฒนาดังกล่าวจะทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงคอนเทนต์คุณภาพสูงได้ในทุกที่
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูได้จากเว็บไซต์ภาษาอังกฤษของเราที่ https://corp.kt.com/eng/
ข้อมูลติดต่อสำหรับสื่อมวลชน
หากมีคำถามหรือข้อสงสัย กรุณาติดต่อ Global Media Relations Team ที่อีเมล kt.gmrt@gmail.com
รูปภาพ - https://photos.prnasia.com/prnh/20200622/2837205-1?lang=0