omniture

CGTN: แนวเขตเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีพร้อมสนับสนุนการพัฒนาประเทศจีนอย่างมีคุณภาพสูง

CGTN
2020-11-16 22:38 191

ปักกิ่ง--16 พฤศจิกายน 2563--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ 

หลังจากที่จีนประกาศพิมพ์เขียวสำหรับการพัฒนาประเทศตลอด 15 ปีข้างหน้า ภูมิภาคต่าง ๆ ของจีนก็กำลังเตรียมพร้อมสำหรับบทบาทใหม่ในการเดินทางครั้งใหม่เพื่อพัฒนาประเทศให้มีความทันสมัย

มณฑลและเทศบาลนครที่อยู่ตามแนวชายฝั่งแม่น้ำแยงซี ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดของจีน ได้รับบทบาทใหม่ที่มีความสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกด้วยแนวทางที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

พิมพ์เขียวดังกล่าวซึ่งเป็นข้อเสนอของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568) และวัตถุประสงค์ระยะยาวถึงปี 2578 ได้เรียกร้องให้มีการส่งเสริมการพัฒนาแนวเขตเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีและการรวมกลุ่มในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี ตลอดจนสร้างแพลตฟอร์มและเสาหลักแห่งการเติบโตในภูมิภาค

บทบาทของแนวเขตเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีและเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีที่มีต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม ถือเป็นประเด็นที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ให้ความสำคัญในระหว่างการตรวจเยี่ยมเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้และมณฑลเจียงซู

ภารกิจดังกล่าวถือเป็นการตรวจเยี่ยมภายในประเทศครั้งแรกของผู้นำจีนหลังเสร็จสิ้นการประชุมใหญ่ครั้งที่ 5 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 19 ซึ่งมีการรับรองพิมพ์เขียวดังกล่าวระหว่างการประชุม

อ่านบทความต้นฉบับได้ที่ https://news.cgtn.com/news/2020-11-13/Chinese-President-Xi-Jinping-inspects-Yangzhou-in-east-China-s-Jiangsu-VoksaXWCjK/index.html 

บุกเบิกการปฏิรูปครั้งใหม่ของจีน

เมื่อช่วงเช้าวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นายสี จิ้นผิง ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เข้าร่วมการชุมนุมครั้งใหญ่ในเซี่ยงไฮ้เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปีแห่งการพัฒนาและเปิดกว้างเขตผู่ตง พร้อมกับให้กำลังใจเขตผู่ตงในการ "แบกรับหน้าที่อันหนักหน่วงที่สุด" และ "แก้ปัญหาที่ยากที่สุด" เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปและพัฒนาประเทศให้ทันสมัย

เขากล่าวสุนทรพจน์ว่า เขตผู่ตงซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำหวงผู่ในนครเซี่ยงไฮ้ ควรเป็นหัวหอกในการปฏิรูปและเปิดกว้างมากขึ้น รวมถึงเป็นแนวหน้าในการสร้างประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่

เขาเน้นย้ำว่า เขตผู่ตงควรเสริมบทบาทให้แข็งแกร่งในฐานะกลไกขับเคลื่อนนวัตกรรม รวมถึงพัฒนาแบบก้าวกระโดดในด้านเทคโนโลยีหลักที่มีความสำคัญ

ขณะเดียวกัน เขตผู่ตงควรพยายามเพิ่มขีดความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรระดับโลก เพื่อให้สามารถรองรับการพัฒนารูปแบบใหม่ได้ดียิ่งขึ้น

จีนให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนการพัฒนารูปแบบใหม่ที่ยึดตลาดในประเทศเป็นหลัก และเปิดโอกาสให้ตลาดในประเทศและต่างประเทศส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยนายสี จิ้นผิง เรียกร้องให้เขตผู่ตงพัฒนาตัวเองให้เป็นฮับของตลาดในประเทศและจุดเชื่อมทางยุทธศาสตร์ของตลาดในประเทศและต่างประเทศ

นอกจากนี้ ผู้นำจีนยังสนับสนุนให้เขตผู่ตงรับบทบาทผู้นำในการพัฒนาพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีแบบบูรณาการ

การปกป้องสิ่งแวดล้อมและการเป็นผู้ประกอบการ

ในช่วงบ่ายวันพฤหัสบดี นายสี จิ้นผิง ได้เดินทางเยือนเมืองหนานทงในมณฑลเจียงซู โดยตรวจเยี่ยมเขตปินเจียงเพื่อสำรวจความพยายามของท้องถิ่นในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมตามแนวชายฝั่งแม่น้ำแยงซี รวมถึงการบังคับใช้นโยบายห้ามจับปลา

เขตปินเจียงล้อมรอบด้วยภูเขาริมแม่น้ำแยงซี และขึ้นชื่อว่าเป็น "ระเบียงสีเขียว" ของเมืองหนานทง อีกทั้งยังเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับการพัฒนาท้องถิ่น จึงมีการดำเนินโครงการหลายโครงการเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศมาตั้งแต่ปี 2559

นายสี จิ้นผิง หวนรำลึกถึงครั้งที่เคยมาเยือนที่แห่งนี้เมื่อปี 2521 พร้อมกล่าวชื่นชมความก้าวหน้าอย่างมากในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมตลอดหลายปีที่ผ่านมา

"ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันสร้างชีวิตที่มีความสุขด้วยมือของตัวเอง" เขากล่าว

หลังจากนั้น นายสี จิ้นผิง ได้เดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์หนานทงและชมนิทรรศการเกี่ยวกับนายจาง เจี้ยน นักอุตสาหกรรมและนักการศึกษาชาวจีน ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งโดยนายจางเมื่อปี 2448 โดยเป็นพิพิธภัณฑ์สาธารณะแห่งแรกที่ก่อตั้งโดยชาวจีน

นายสี จิ้นผิง ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานของนายจางในการพัฒนาอุตสาหกรรม การศึกษา และงานสังคมสงเคราะห์ของจีน โดยในขณะที่วางรากฐานอุตสาหกรรม นายจางก็เริ่มงานด้านการศึกษาและสังคมสงเคราะห์ควบคู่ไปด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านและสร้างผลกระทบอย่างกว้างขวาง

ผู้นำจีนยกย่องนายจางในฐานะนักปราชญ์และต้นแบบของผู้ประกอบการจีน พร้อมกับแนะนำว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ควรได้รับการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ความรักชาติ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว

โครงการผันน้ำจากใต้สู่เหนือ แหล่งอารยธรรมเชิงนิเวศ

ต่อมาในวันศุกร์ นายสี จิ้นผิง ได้เดินทางไปที่เมืองหยางโจว ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางแห่งที่สองของการเยือนมณฑลเจียงซู โดยได้เยี่ยมชมอุทยานวัฒนธรรมเชิงนิเวศและโครงการอนุรักษ์น้ำเจียงตู เพื่อศึกษาความพยายามของท้องถิ่นในการปรับปรุงสิ่งแวดล้อม รวมถึงการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรม

"เราต้องปฏิบัติอย่างดีต่ออารยธรรมเชิงนิเวศ เพราะการสร้างอารยธรรมเชิงนิเวศเกี่ยวข้องโดยตรงกับความสุขของผู้คน และมีผลต่อการเติบโตอย่างมีสุขภาพดีของคนรุ่นหลัง" นายสี จิ้นผิง กล่าว พร้อมกับเสริมว่า การสร้างความเข้มแข็งของอารยธรรมเชิงนิเวศคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาสังคมจีนอย่างมีคุณภาพสูง

ระหว่างเยี่ยมชมอุทยานวัฒนธรรมและนิเวศวิทยาในเขตซานหวัน นายสี จิ้นผิง ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมตามแนวคลองใหญ่ (Grand Canal) รวมถึงการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรม นอกจากนี้ เขาได้เรียกร้องให้หน่วยงานท้องถิ่นบูรณาการกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ดีขึ้น

ขณะเดียวกัน เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินโครงการผันน้ำจากใต้สู่เหนือในเขตเจียงตู ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางตะวันออกของโครงการระดับเมกะโปรเจคนี้

พื้นที่ทางตอนเหนือของจีนมีประชากรหนาแน่นและได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำเฉียบพลันมาเป็นเวลานาน ซึ่งนำไปสู่การใช้น้ำบาดาลมากเกินไปและทำให้น้ำในแม่น้ำลดน้อยลง ดังนั้นจึงมีการริเริ่มโครงการผันน้ำจากใต้สู่เหนือในปี 2545 เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำแยงซีผ่านเส้นทางตะวันออก กลาง และตะวันตกไปยังพื้นที่แห้งแล้งทางภาคเหนือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากรน้ำและบรรเทาภาวะขาดแคลนน้ำ

"แหล่งน้ำทางตอนใต้ของจีนมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าทางตอนเหนือ ดังนั้นจึงต้องมีการผันน้ำด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์" นายสี จิ้นผิง กล่าวกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น "อย่างไรก็ตาม ประชาชนในภาคเหนือไม่ควรเพิกเฉยต่อปัญหานี้เพียงเพราะมีมาตรการดังกล่าว"

"เราต้องวางแผนพัฒนาเมืองตามปริมาณทรัพยากรน้ำ ดังนั้น เราควรบูรณาการโครงการผันน้ำจากใต้สู่เหนือ ควบคู่กับการอนุรักษ์น้ำในพื้นที่" เขากล่าวเสริม

ข้อมูลจากทางการระบุว่า เส้นทางตะวันออกและกลางสามารถผันน้ำได้กว่า 2.94 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรไปยังพื้นที่แห้งแล้งทางตอนเหนือ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชากรกว่า 120 ล้านคน ณ สิ้นปี 2562 ทั้งยังช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมของเมืองต่าง ๆ คิดเป็นมูลค่ารวมเกือบ 1 แสนล้านหยวนต่อปี

ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการรวมกลุ่มในภูมิภาค

การพัฒนาแนวเขตเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีและการรวมกลุ่มในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี ถือเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติที่สำคัญต่อการพัฒนาร่วมกันในจีน ควบคู่ไปกับการพัฒนาปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย และเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า

แนวเขตเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีประกอบด้วย 9 มณฑล ได้แก่ เสฉวน กุ้ยโจว ยูนนาน หูเป่ย หูหนาน เจียงซี อันฮุย เจียงซู และเจ้อเจียง และ 2 เทศบาลนคร ได้แก่ ฉงชิ่งและเซี่ยงไฮ้ ครอบคลุมพื้นที่ราว 1 ใน 5 ของจีน โดยมีประชากรรวมกัน 600 ล้านคน และมีจีดีพีคิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% ของทั้งประเทศ

ในปี 2559 จีนได้ประกาศแผนพัฒนาแนวเขตเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี โดยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศและการพัฒนาสีเขียว

ในมหกรรมแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน (China International Import Expo: CIIE) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 นายสี จิ้นผิง กล่าวในพิธีเปิดงานว่า จีนจะสนับสนุนการพัฒนาเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีแบบบูรณาการ จากนั้นคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและคณะรัฐบาลจีนได้ประกาศร่างแผนการดังกล่าวในปีต่อมา

ร่างแผนการดังกล่าว ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่ 358,000 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมมณฑลเจียงซู เจ้อเจียง และอันฮุย รวมถึงเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยและเปิดกว้างมากขึ้น ขณะที่การรวมกลุ่มในภูมิภาคมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างมีคุณภาพสูงและการสร้างระบบเศรษฐกิจที่ทันสมัย

ทั้งนี้ เซี่ยงไฮ้และเจียงซูเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการพัฒนามากที่สุดในจีน โดยเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองที่มีจีดีพีสูงสุดในประเทศ ส่วนเจียงซูเป็นมณฑลที่มีจีดีพีสูงสุดเป็นอันดับสองของประเทศ เซี่ยงไฮ้และเจียงซูจึงเป็นทั้งแนวหน้าในการพัฒนาร่วมกันตามแนวแม่น้ำแยงซี และเป็นผู้บุกเบิกอนาคตของจีนในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

Source: CGTN
Keywords: Publishing/Information Service Broadcast feed announcements Economic news, trends, analysis Future Events
Related News