omniture

จีน-ญี่ปุ่นหารืออย่างจริงจังเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งแสวงหาแนวทางส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาค

Science and Technology Daily | IUSTC
2020-12-08 16:23 327

ปักกิ่ง--8 ธันวาคม 2563--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

รายงานจาก Science and Technology Daily | IUSTC:

ในปี 2563 โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อโลก ขณะที่เศรษฐกิจดิจิทัลได้เน้นย้ำถึงศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ในการร่วมตอบสนองต่อการระบาดทั่วโลก

รายงานของ Oxford Economics ประมาณการว่า สัดส่วนของเศรษฐกิจดิจิทัลต่อจีดีพีโลกจะขยายตัวจาก 15% สู่ระดับ 25% ภายในปี 2568 ปัจจุบัน ในแง่ขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น สหรัฐอเมริกามีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยจีนเป็นอันดับ 2 ขณะที่เยอรมนี ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักรอยู่ในอันดับ 3 ถึง 5 

เทรนด์การพัฒนาผลักดันให้ "เศรษฐกิจดิจิทัล" มีความโดดเด่นบนเวทีโลก ขณะที่ประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับการโปรโมทภายใต้กรอบความร่วมมือระดับทวิภาคและพหุภาคี

"การประชุมย่อยด้านเศรษฐกิจดิจิทัล" ภายใต้ "การประชุมปักกิ่ง-โตเกียว" ครั้งที่ 16 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ 12 ท่านจากจีนและญี่ปุ่น ได้หารือกันถึงความเป็นไปได้ในการร่วมมือระหว่างสองประเทศ ซึ่งสองฝ่ายได้บรรลุฉันทามติในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

หัวข้อใหม่: เศรษฐกิจดิจิทัลเกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลสังคมอย่างไร

เรากำลังสร้างประชาคมดิจิทัลแบบไหน คุณจ้าว เจียนหนาน รองประธานฝ่ายพาณิชย์และหัวหน้าผู้แทนของ Tencent Cloud ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล โดยกล่าวว่า "เทคโนโลยีดิจิทัลเปรียบเหมือน "เส้นเอ็น" ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคม โดยช่วยบรรเทา "ผลกระทบที่รุนแรง" ด้วย "ความยืดหยุ่นสูง" และช่วยออมแรงสู่การ "ฟื้นตัวเป็นรูปตัว V" ของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในขั้นตอนการข้ามผ่านความเลวร้ายทางเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากโรคระบาด"

เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทอย่างไรในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและธรรมาภิบาลสังคม

คุณหลิว ซ่ง รองประธานบริษัท Alibaba ชี้ว่า ธรรมาภิบาลดิจิทัลจะกลายเป็นทิศทางที่สำคัญในการเสริมสร้างโลกาภิบาล จากมุมมองของการต่อสู้กับโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ธรรมาภิบาลร่วมแบบพหุนิยมอิงเทคโนโลยีดิจิทัลจะกลายเป็นธรรมาภิบาลสังคมและเมืองรูปแบบใหม่ ผู้เชี่ยวชาญในที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และเชื่อว่าเอเชียจะกลายเป็นภูมิภาคสำคัญในการทดลองพัฒนาระบบดิจิทัลในระดับโลก

สำหรับคำถามเกี่ยวกับวิธีการจัดการข้อมูล โดยเฉพาะการยืนยันข้อมูลข้ามพรมแดน ภาษีอากร และปัญหาอื่น ๆ ที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ คุณหลิวอธิบายโดยยกตัวอย่างภูมิปัญญาในการจัดการน้ำแบบจีนโบราณ โดยกล่าวว่า "องค์ประกอบของข้อมูลทุกวันนี้มีความคล้ายคลึงกับองค์ประกอบของน้ำอย่างมาก การจัดการข้อมูลก็คล้ายกับการจัดการน้ำ ซึ่งไม่ควรถูกขัดขวางหรือกระจาย เนื่องจากองค์ประกอบข้อมูลมีความหลากหลายและแตกต่าง จึงไม่สามารถใช้กฎตายตัวในการควบคุมสภาพคล่องของข้อมูล"

ตัวแทนจากทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันว่า ยุคแห่งเศรษฐกิจดิจิทัลได้เริ่มขึ้นแล้ว ความรู้และข้อมูลดิจิทัลได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต และเป็นพลังขับเคลื่อนใหม่ที่ผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม

ในส่วนของเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งอาจนำไปสู่การปฏิวัติทางเทคโนโลยีรอบใหม่ มีคำถามว่าเราจะรุกสร้างสรรค์นวัตกรรมและก้าวไปข้างหน้าอย่างเป็นระเบียบภายใต้กฎเกณฑ์ไปพร้อมกันได้อย่างไร

คุณฟาง หานถิง ผู้ดำเนินการประชุมจากฝั่งจีน และรองประธานของหนังสือพิมพ์ Science and Technology Daily แสดงให้เห็นว่า นวัตกรรมกับกฎเกณฑ์เป็นคู่ตรงข้ามกัน หากปราศจากกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่แน่นอนก็จะไม่สามารถระบุได้ว่าสิ่งไหนควรควบคุมและสิ่งไหนควรผ่อนคลาย ในทางกลับกัน หากไม่มีการควบคุมความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเมื่อกิจกรรมการสร้างสรรค์นวัตกรรมก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ ก็จะเกิดปัญหาที่คาดเดาไม่ได้มากมาย หากมองจากอีกมุมหนึ่ง นวัตกรรมคือการบุกเบิกสิ่งใหม่ ขณะที่กฎเกณฑ์จะช่วยปกป้องนวัตกรรม ซึ่งองค์ประกอบทั้งสองนี้ควบคุมและส่งเสริมซึ่งกันและกันในเวลาเดียวกัน

ยกตัวอย่างเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ คุณโทชิโอะ อิวาโมโตะ หัวหน้าที่ปรึกษาองค์กร บริษัท NTT DATA Corporation แนะนำว่า นักพัฒนาข้อมูลด้านเทคโนโลยี AI จำเป็นต้องกำหนดกฎเกณฑ์การใช้ข้อมูล และควรกำหนดกฏเกณฑ์ควบคุมผู้ใช้ข้อมูล ขณะเดียวกัน คุณโนริฮิโระ ซูซูกิ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท Hitachi เสนอแนะว่า การใช้ข้อมูลจำเป็นต้องใช้ปัญญามากขึ้นเพื่อสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม

จุดเริ่มต้นใหม่: สร้างความไว้วางใจภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

ความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัลคือหัวข้อหลักในการประชุม

คุณทัตสึยะ อิโตะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่น กล่าวว่า จีนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มที่ในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19

คุณโนริฮิโระ ซูซูกิ ระบุว่า แต่ละประเทศเผชิญสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป และเราจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างครอบคลุม เช่น สถาบันและระบบ ในการพูดคุยในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เขาแสดงความคาดหวังว่าญี่ปุ่นและจีนจะสามารถยกระดับความร่วมมือในส่วนนี้

คุณฟาง หานถิง กล่าวย้ำว่า จีนและญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ ควรพิจารณาอย่างจริงจังเกี่ยวกับการยกระดับความร่วมมือในห่วงโซ่อุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อสร้างความมั่นใจว่าห่วงโซ่อุตสาหกรรมจะไม่หยุดชะงัก ตลอดจนร่วมกันใช้และรักษาไว้ให้เหมือนกับผลิตภัณฑ์สาธารณะ

คุณสวี่ จือยวี่ ประธานฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์สากล บริษัท Huawei Technologies Co., Ltd. เน้นย้ำว่า ความปลอดภัยของเครือข่ายและการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ คือแนวทางปฏิบัติสูงสุดและรากฐานของธุรกิจเสมอมา โดยตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี บริษัทให้บริการลูกค้าในกว่า 170 ประเทศและดินแดน และไม่เคยได้รับคำร้องขอจากรัฐบาลให้เปิดเผยข้อมูลผู้ใช้ บริษัทจะไม่ทำให้สิทธิ์ของลูกค้าหรือความอยู่รอดของบริษัทตกอยู่ในความเสี่ยง

ผู้เข้าร่วมการประชุมจากทั้งสองฝ่ายได้กล่าวถึง "ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)" ที่เพิ่งมีการลงนามไปเมื่อไม่นานมานี้ โดยเห็นพ้องว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนในกระบวนการพัฒนาระบบดิจิทัลนั้น การลงนามในข้อตกลงนี้จะมอบโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งความร่วมมือระหว่างจีนและญี่ปุ่นในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีมีแนวโน้มสดใส

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 จีนได้ผลักดันโครงการ Global Data Security Initiative ในงานสัมมนาระหว่างประเทศในหัวข้อ "การคว้าโอกาสดิจิทัลเพื่อความร่วมมือและการพัฒนา" โดยคุณฟางได้กล่าวถึงความไม่สมดุลของข้อมูลระหว่างจีนกับญี่ปุ่น โดยย้ำว่าสื่อของสองประเทศควรรายงานข่าวอย่างสมดุลให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อที่จะสร้างรากฐานความไว้วางใจซึ่งกันและกันให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ "เราควรเคารพอธิปไตยดิจิทัลของกันและกัน สร้างความเชื่อใจร่วมกันภายใต้กรอบของยูเอ็น และบูรณาการเศรษฐกิจดิจิทัลระดับภูมิภาคภายใต้กรอบความร่วมมือระดับพหุภาคีอย่างเช่น RCEP"

ทิศทางใหม่: เปิดกว้างด้านความร่วมมือเพื่อสร้างอนาคตดิจิทัลของภูมิภาคร่วมกัน

เช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬาที่ย้ายไปสนามแห่งใหม่ การปฏิวัติทางเทคโนโลยีและการปฏิรูปทางอุตสาหกรรมก็จะกำหนดโครงสร้างเศรษฐกิจโลกใหม่ ผู้เข้าร่วมการประชุมบรรลุฉันทามติว่า จีนและญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ ควรจับเทรนด์และคว้าโอกาส ผู้เล่นทุกคนจากสองประเทศไม่ควรเสียเวลารอและดูเชิง เพราะยุคเทคโนโลยีใหม่ต้องอาศัยการเข้าร่วมและการร่วมมือเชิงรุก

คุณทาโร่ ชิมาดะ ผู้บริหารและรองประธานอาวุโสฝ่ายองค์กร บริษัท Toshiba Co., Ltd. ประเทศญี่ปุ่น และหัวหน้าฝ่ายธุรกิจดิจิทัล กล่าวว่า การจะรักษาสันติภาพของโลกจำเป็นต้องอาศัยการเปิดกว้างและการแลกเปลี่ยน โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เขาเสนอแนะว่าจีนและญี่ปุ่นสามารถเปิดกว้างให้แก่กันมากขึ้น และบรรลุฉันทามติผ่านทางการแลกเปลี่ยนที่เปิดกว้างและจริงใจ

เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามภาษาและวัฒนธรรมนั้น คุณเจียง เต๋า รองประธานอาวุโส บริษัท iFlytek Co., Ltd. กล่าวว่า ขอบเขตความร่วมมือระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในด้านปัญญาประดิษฐ์จะกว้างขวางมาก โดยยกตัวอย่างว่า ในเดือนตุลาคม 2561 Eiken Foundation of Japan ประกาศเป็นครั้งแรกว่าจะนำเทคโนโลยีการประเมินการสอบพูดมาใช้ และ iFlytek คือพันธมิตรแต่เพียงผู้เดียว โดยตั้งแต่ปี 2562 ระบบให้คะแนนอัตโนมัติ AI ที่จัดหาโดย iFlytek ได้ช่วยยกระดับความแม่นยำและประสิทธิภาพของการให้คะแนนการสอบทักษะภาษาอังกฤษ CBT "ปัจจุบัน เครื่องแปลภาษา iFlytek มีวางจำหน่ายในกว่า 130 ประเทศและดินแดน และช่วยทลายกำแพงการสื่อสารในกว่า 60 ภาษา iFlytek กลายเป็นซัพพลายเออร์อย่างเป็นทางการในการจัดหาเครื่องแปลงเสียงและแปลภาษาอัตโนมัติสำหรับมหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาวและพาราลิมปิก ปักกิ่ง 2022 และเราหวังว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของเราจะมีส่วนช่วยสนับสนุนโตเกียว โอลิมปิก ในปีหน้าด้วย"

คุณเจีย จิงตัน ผู้อำนวยการ Torch High Technology Industry Development Center ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า เขตพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคของจีนได้มอบสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลและการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเขตพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคแห่งชาติ 169 แห่งให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขตพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคแห่งชาติ เช่น ซีอาน เหอเฟย หางโจว และเสิ่นหยาง ได้กำหนดแผนที่สอดคล้องกันสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล

คุณเจียให้ข้อเสนอแนะมากมายเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ประการแรก เขาเห็นว่าความแตกต่างไม่ควรจำกัดความร่วมมือระหว่างสองฝ่าย เนื่องจากความร่วมมือระหว่างจีนกับญี่ปุ่นไม่ได้ละเมิดกฎหมายปัจจุบัน จึงเป็นโอกาสอันดีในการเริ่มกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศ ประการที่สอง จีนและญี่ปุ่นสามารถร่วมมือเชิงปฏิบัติด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัล และเดินหน้าเสนอทางออกของปัญหาที่สองฝ่ายกังวล ประการที่สาม ควรส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างรัฐบาล มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และองค์กรต่าง ๆ

คุณหลิว ซ่ง พูดถึงข้อเสนอแนะนี้ว่า "เราควรพูดคุยเพิ่มเติมเรื่องโมเดล "เขตพิเศษ" ของเขตพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคและเขตการค้าเสรี พร้อมทั้งกำหนดกฎเกณฑ์ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกัน"

คุณโนริฮิโระ ซูซูกิ กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือด้านการพัฒนาดิจิทัลนั้น สิ่งสำคัญคือการแบ่งปันแนวคิดและค่านิยมทางสังคมให้แก่กัน ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องสร้างกฏการไหลของข้อมูลบนพื้นฐานของค่านิยมร่วมกัน และนำไปใช้ฟื้นฟูองค์กรเอกชน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาประชาคมดิจิทัลในอนาคต

ทั้งสองฝ่ายยังพูดคุยกันเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลและการบูรณาการเศรษฐกิจระดับภูมิภาคในอนาคต โดยคุณฮิโรมิ ยามาโอกะ ผู้อำนวยการบริษัท Future Co., Ltd. ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ญี่ปุ่นเต็มใจที่จะร่วมมือกับจีน และเดินหน้าส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคร่วมกัน

"Huawei เคารพในคุณค่าของลูกค้า และจะเดินหน้าสร้างคุณค่าทั่วโลก รวมถึงในญี่ปุ่น ทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างมีข้อได้เปรียบด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรม บริษัทญี่ปุ่นและ Huawei เติมเต็มซึ่งกันและกันในด้านซัพพลายเชนและเทคโนโลยี ความร่วมมือที่เปิดกว้างระหว่างบริษัทจีนและญี่ปุ่นจะช่วยสร้างอนาคตดิจิทัลร่วมกัน นอกจากนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในจีนและญี่ปุ่นไม่สามารถแยกออกจากสภาพแวดล้อมทางอุตสาหกรรมที่ดีและบุคลากรที่มีความสามารถด้านนวัตกรรม เราหวังว่าจีนและญี่ปุ่นจะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมด้านนโยบายที่เปิดกว้างมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมนวัตกรรม ตลอดจนช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของสองประเทศให้ร่วมมือกันให้มากขึ้นและลึกซึ้งขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดจะมอบโซลูชันและผลิตภัณฑ์ที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงสุดให้แก่ตลาดโลก" คุณสวี่ จือยวี่ กล่าวย้ำ 

Source: Science and Technology Daily | IUSTC
Keywords: Banking/Financial Service Computer/Electronics Electronic Commerce High Tech Security Publishing/Information Service