omniture

CGTN: ผู้นำจีนทำตามคำมั่นสัญญาบรรเทาความยากจนของประชาชนทั่วประเทศ

CGTN
2021-02-23 13:30 176

ปักกิ่ง--23 กุมภาพันธ์ 2564--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

ด้วยความมุ่งมั่นในการรับใช้ประชาชนด้วยหัวใจและจิตวิญญาณ พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงอุทิศตนนำพาประเทศไปสู่การสร้างสังคมที่มีความเจริญระดับปานกลางในทุกแง่มุม และช่วยให้ประเทศบรรลุผลสำเร็จอันน่าอัศจรรย์ในการบรรเทาความยากจน

"การได้เห็นผู้ยากไร้และพื้นที่ยากจนกำลังเข้าสู่สังคมที่มีความเจริญระดับปานกลางเช่นเดียวกับพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ คือผลพวงของการทำตามคำมั่นสัญญาอันแน่วแน่ของทางพรรค" นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าว

เมื่อไม่นานมานี้ CMG ซึ่งเป็นสื่อของทางการจีน ได้เผยแพร่สารคดีชุด "Poverty Alleviation" เพื่อแสดงให้เห็นว่าจีนช่วยให้ประชาชนหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างไร โดยตอนแรกนำเสนอภาพรวมของการที่ผู้นำจีนทำตามคำมั่นสัญญาในการดึงประชาชนในชนบททั้งหมดให้ขึ้นมาอยู่เหนือเส้นแบ่งความยากจนได้สำเร็จในปี 2563

"มีชีวิตที่ดีขึ้นและหลุดพ้นจากความยากจน"

จีนริเริ่มโครงการบรรเทาความยากจนขนานใหญ่ตั้งแต่ปี 2525 โดยในตอนนั้น นายสี จิ้นผิง ถูกส่งไปปฏิบัติงานในอำเภอเจิ้งติ้ง มณฑลเหอเป่ย ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2525 ถึงเดือนพฤษภาคม 2528 เขาได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งรองเลขาธิการและต่อมาเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำอำเภอเจิ้งติ้ง โดยสุนทรพจน์ของเขาและบทความที่เขียนขึ้นในช่วงนั้นได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ "Up and Out of Poverty" ของเขา  

นายสี จิ้นผิง เขียนในหนังสือว่า "ผมทำงานหนักตลอดสองปีที่ทำงานในจังหวัดหนิงเต๋อ ร่วมกับประชาชนและสมาชิกพรรคที่นั่น ผมรู้สึกไม่สบายใจอยู่ตลอดเวลา เพราะการบรรเทาความยากจนเป็นงานใหญ่ที่ต้องอาศัยความพยายามของคนหลายรุ่น"

หลังจากนั้น การบรรเทาความยากจนได้กลายมาเป็นหัวใจสำคัญของชีวิตการทำงานการเมืองของเขา

ชูการบรรเทาความยากจนแบบมุ่งเป้าเป็นกลยุทธ์ใหม่

จากการสำรวจของรัฐบาลจีน จำนวนประชาชนฐานะยากจนมีมากถึง 99.89 ล้านคน ณ สิ้นปี 2555 ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรของแทบทุกประเทศทั่วโลก

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 ในระหว่างการตรวจเยี่ยมมณฑลหูหนาน นับเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ชูแนวคิด "การบรรเทาความยากจนแบบมุ่งเป้า"

แนวคิดดังกล่าวเป็นการกำหนดนโยบายบรรเทาความยากจนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และกลายเป็นแนวทางในการต่อสู้ความยากจนของจีน

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2558 ระหว่างการประชุม Central Conference on Poverty Alleviation and Development นายสี จิ้นผิง ระบุว่า การบรรเทาความยากจนควรให้ความสำคัญกับ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ ใครคือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ใครควรเป็นผู้ดำเนินการบรรเทาความยากจน ควรดำเนินการบรรเทาความยากจนอย่างไร และควรใช้มาตรฐานและกระบวนการใดในการบรรเทาความยากจน

เพื่อรับมือกับประเด็นเหล่านี้พร้อมกับดำเนินการบรรเทาความยากจนแบบมุ่งเป้า เจ้าหน้าที่รัฐกว่า 800,000 คนถูกส่งไปปฏิบัติงานบรรเทาความยากจนในสถานที่จริง 

"ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง"

ณ สิ้นปี 2559 ชาวจีนกว่า 43 ล้านคน หรือราว 3% ของประชากรจีนทั้งหมด ยังไม่หลุดพ้นจากความยากจน โดยการช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีถนน น้ำดื่มสะอาด หรือไฟฟ้า เป็นงานยากที่สุด

"การขจัดความยากจนก็ว่าเป็นงานยากแล้ว แต่การขจัดความยากจนในพื้นที่ยากจนสุดขีดเป็นงานยากที่สุด" นายสี จิ้นผิง กล่าว

ในปี 2560 จีนกำหนดให้ 3 เขตปกครองและ 3 จังหวัด ซึ่งรวมถึงเขตปกครองตนเองทิเบต และเขตปกครองตนเองชนชาติลีซอ นู่เจียง ในมณฑลยูนนาน เป็นพื้นที่ยากจนที่สุดในประเทศ และมีการแบ่งสรรปันส่วนทรัพยากรให้พื้นที่เหล่านี้มากกว่าเดิม

"ในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง" นายสี จิ้นผิง ให้คำมั่นสัญญา

"สองการรับรองและสามการรับประกัน"

ณ สิ้นปี 2561 จำนวนประชากรจีนที่ยากจนลดลงเหลือ 16.6 ล้านคน ปฏิบัติการบรรเทาความยากจนจึงดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย อย่างไรก็ดี งานบรรเทาความยากจนในจีนยังเผชิญกับความท้าทายนานัปการ

หนึ่งในความท้าทายคือ การที่หน่วยงานท้องถิ่นบางส่วนปลอมตัวเลขสถิติการบรรเทาความยากจนหรือระบุตัวเลขที่สูงเกินจริงเพื่อเรียกคะแนนทางการเมือง

ในการประชุมว่าด้วยการต่อสู้กับความยากจนเมื่อเดือนเมษายน 2562 ประธานาธิบดีจีนได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายพยายามแก้ปัญหาสำคัญ นั่นคือ การรับรองว่าผู้ยากไร้ในชนบทจะมีอาหารและเครื่องนุ่งห่มเพียงพอ และรับประกันว่าสามารถเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับ บริการทางการแพทย์ขั้นพื้นฐาน และที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย หรือเรียกว่า "สองการรับรองและสามการรับประกัน"

หลังจากนั้น กระทรวงต่าง ๆ ได้ริเริ่มโครงการแก้ไขปัญหาสำคัญ และ ณ สิ้นปี 2562 ปัญหาดังกล่าวที่ส่งผลกระทบต่อประชากรกว่า 5.2 ล้านคนก็ได้รับการแก้ไข

บรรลุเป้าหมายการบรรเทาความยากจนแม้เผชิญสถานการณ์โควิด-19

ปี 2563 ประเทศจีนและทั่วโลกต่างเผชิญสถานการณ์ที่ไม่ปกติ โดยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และอุทกภัยในภาคใต้ของจีนได้สร้างความท้าทายอย่างมากในการบรรเทาความยากจน

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้ประชากรโลกราว 88-115 ล้านคนเข้าสู่ภาวะยากจนสุดขีดในปี 2563 ซึ่งหมายความว่าจำนวนคนยากจนสุดขีดทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี

เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ประธานาธิบดีสิ จิ้นผิง กล่าวย้ำในการประชุมสัมมนาว่าด้วยการคว้าชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการบรรเทาความยากจนว่า การดึงชาวบ้านในชนบททั้งหมดที่อยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนออกจากความยากจนภายในปี 2563 เป็นคำมั่นสัญญาอันแน่วแน่ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และจะต้องบรรลุให้ได้ตามกำหนดเวลา

จีนใช้มาตรการที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไปตามเวลาที่กำหนด โดยมีความพยายามมากขึ้นเพื่อลดความสูญเสียจากภัยธรรมชาติ ตลอดจนเร่งฟื้นฟูการผลิตและการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติของประชาชนในพื้นที่ยากจนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ

ขณะเดียวกัน กระทรวงต่าง ๆ ได้ติดตามสถานการณ์และให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนกลับสู่ความยากจนอีก

ในเดือนธันวาคม 2563 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศว่า ความพยายามอย่างไม่ลดละตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้คนยากจนในชนบททั้งหมดหลุดพ้นจากความยากจน และคนยากจนทั้งหมดเกือบ 100 ล้านคนในประเทศได้หลุดพ้นจากความยากจนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อ่านบทความต้นฉบับได้ที่ https://news.cgtn.com/news/2021-02-19/Poverty-alleviation-a-solemn-promise-fulfilled-by-Chinese-leadership-Y0RlOYQ32o/index.html 

Source: CGTN
Keywords: Banking/Financial Service Entertainment Publishing/Information Service Television Economic news, trends, analysis
Related News