ปักกิ่ง--7 พฤษภาคม 2564--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
นับตั้งแต่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม มนุษยชาติก็สร้างความมั่งคั่งทางวัตถุอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างไรก็ตาม ความเจริญรุ่งเรืองนี้ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธรรมชาติ
Global Footprint Network ระบุว่า ปัจจุบันมนุษย์เราใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากมายมหาศาลราวกับอยู่บนโลก 1.6 ดวง ซึ่งหมายความว่าโลกต้องใช้เวลานานถึง 1 ปี 8 เดือน ในการสร้างทรัพยากรธรรมชาติที่มนุษย์ใช้ไปในหนึ่งปี
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เคยกล่าวไว้ว่า "แหล่งน้ำที่ใสสะอาดและเทือกเขาอันเขียวชอุ่มเป็นสมบัติที่ประเมินค่ามิได้" และเน้นย้ำเสมอว่า "การปกป้องสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาและผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือพันธกิจที่ต้องทำร่วมกัน" เพราะ "เรามีโลกเพียงใบเดียว"
"การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม"
การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสมคือกุญแจสำคัญของการอนุรักษ์ระบบนิเวศ เราต้องส่งเสริมรูปแบบการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายกว่าเดิม ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และปล่อยคาร์บอนต่ำ รวมถึงต่อต้านการใช้มากเกินความจำเป็นและความสิ้นเปลือง ตลอดจนส่งเสริมวัฒนธรรมการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดีและใส่ใจสิ่งแวดล้อม
- นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2562
ระหว่างพิธีเปิดมหกรรมพืชสวนนานาชาติ (International Horticultural Exhibition) ในปี 2562 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้อธิบายแนวทางการอนุรักษ์ระบบนิเวศ ด้วยการอ้างอิงส่วนหนึ่งของ "จือจื้อทงเจี้ยน" หรือ "Comprehensive Mirror in Aid of Governance" ซึ่งเป็นผลงานทางประวัติศาสตร์จีนโดยซือหม่ากวง (พ.ศ. 1562-1629) ในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (พ.ศ. 1503-1670)
แนวคิดการควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมีความหมายแตกต่างจากเดิมในสังคมจีนทุกวันนี้ โดยนายสี จิ้นผิง กล่าวว่า "แนวคิดการพัฒนาแบบ "ฆ่าแม่ไก่เพื่อเอาไข่" และ "สูบน้ำออกจากทะเลสาบเพื่อจับปลา" มาถึงทางตันแล้ว อนาคตจะสดใสได้ด้วยการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ"
การพัฒนาที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ปล่อยคาร์บอนต่ำ และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม คือหัวใจหลักของความพยายามในการขับเคลื่อนจีนไปสู่การสร้างชาติสังคมนิยมที่ทันสมัย
ในปี 2561 จีนผนวกรวมแนวคิดการสร้างอารยธรรมทางระบบนิเวศไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับล่าสุดยังปูทางไปสู่การบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดภายในปี 2573 และบรรลุเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2603
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2564-2568) ตั้งเป้าว่าจะลดการใช้พลังงานต่อหน่วยผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยผลิตภัณฑ์มวลรวม ราว 13.5% และ 18% ตามลำดับในช่วงเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้ จีนยังให้คำมั่นว่าจะเพิ่มปริมาณป่าไม้สะสม 6 พันล้านลูกบาศก์เมตรภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับระดับในปี 2548 และเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งของไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เป็นมากกว่า 1.2 พันล้านกิโลวัตต์
ทำตามคำมั่นสัญญา
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวในหลายโอกาสว่า จีนมุ่งมั่นทำให้คนกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่จีนดำเนินการอย่างจริงจัง
ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จีนครองอันดับ 1 ของโลกในด้านการเพิ่มทรัพยากรป่าไม้ โดยมีการปลูกป่าทะลุ 70 ล้านเฮกตาร์ ขณะเดียวกัน 90% ของระบบนิเวศบนบก และ 85% ของประชากรสัตว์ป่าสำคัญ ยังได้รับการปกป้องจากรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพ
จีนเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยถ่านหินตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ตอนนี้ จีนเป็นหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ของโลกในด้านพลังงานหมุนเวียน โดยครองสัดส่วน 30% ของกำลังการผลิตติดตั้งของพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดทั่วโลก
นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานว่า สัดส่วนการใช้พลังงานถ่านหินของจีนลดลงจาก 60.4% ในปี 2560 เหลือ 56.8% ในปี 2563 และสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นจาก 19.1% ในปี 2559 เป็น 24.3% ในปี 2563
สมุดปกขาวว่าด้วยการพัฒนาพลังงาน ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 โดยสำนักสารสนเทศของคณะรัฐมนตรีจีน ระบุว่า ณ ปี 2562 จีนปล่อยคาร์บอนลดลง 48.1% เมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 2548 นับเป็นการสวนกระแสการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก่อนหน้านี้
"ภารกิจนี้มีความท้าทายอย่างยิ่ง" ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวถึงพันธกิจของจีนในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการประชุมผ่านวิดีโอระหว่างจีน-ฝรั่งเศส-เยอรมนี "แต่จีนจะทำตามคำมั่นสัญญาให้ได้"