omniture

Shanghai Electric แถลงความคืบหน้าของโรงไฟฟ้าระบบรางพาราโบลิกและหอคอยผลิตไฟฟ้าระบบ CSP ภายใต้โครงการ Mohammed bin Rashid Al Maktoum Solar Park ในดูไบ

Shanghai Electric
2021-06-15 07:35 283

เซี่ยงไฮ้--15 มิถุนายน 2564--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

Shanghai Electric (601727.SS และ 02727.HK) ประกาศว่า บริษัทได้ทำการทดสอบระบบน้ำของแท็งก์เกลือหลอมเหลวเป็นครั้งแรก ณ โรงไฟฟ้าระบบรางพาราโบลิก Parabolic Trough Plant-II (PT2) ภายใต้โครงการ Mohammed bin Rashid Al Maktoum Solar Park เฟส 4 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งผลลัพธ์เชิงบวกที่ได้ถือเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการใช้ระบบเกลือหลอมเหลวในเฟสต่อไป และหลังการทดสอบครั้งนี้ได้มีการติดตั้งท่อส่งเกลือหลอมเหลวในหอคอยผลิตไฟฟ้าระบบรวมแสงอาทิตย์ (CSP) จึงนับเป็นอีกหนึ่งหลักชัยสำคัญของความคืบหน้าในการก่อสร้าง

คนงานร่วมฉลองความสำเร็จในการทดสอบระบบน้ำของแท็งก์เกลือหลอมเหลวเป็นครั้งแรก ณ โรงไฟฟ้าระบบรางพาราโบลิก Parabolic Trough Plant-II (PT2) ภายใต้โครงการ Mohammed bin Rashid Al Maktoum Solar Park เฟส 4
คนงานร่วมฉลองความสำเร็จในการทดสอบระบบน้ำของแท็งก์เกลือหลอมเหลวเป็นครั้งแรก ณ โรงไฟฟ้าระบบรางพาราโบลิก Parabolic Trough Plant-II (PT2) ภายใต้โครงการ Mohammed bin Rashid Al Maktoum Solar Park เฟส 4

Mohammed bin Rashid Al Maktoum Solar Park เฟส 4 ถือเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบรวมแสงอาทิตย์ (CSP) ไซต์เดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ระบบไฮบริดชั้นนำของโลกในการผลิตพลังงานสะอาด 950 MW โดยประกอบด้วยโรงไฟฟ้าแบบหอคอยระบบ CSP ขนาด 100 MW จำนวน 1 แห่ง, โรงไฟฟ้า CSP ระบบรางพาราโบลิกขนาด 200 MW จำนวน 3 แห่ง และโรงไฟฟ้าแบบโฟโต้วอลเทอิก (PV) ขนาด 250 MW จำนวน 1 แห่ง  

หอคอยผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีความสูง 260 เมตรและตั้งอยู่ใจกลางโรงไฟฟ้าแบบหอคอยระบบ CSP จะเป็นหอคอยผลิตไฟฟ้าที่สูงที่สุดในโลก และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ การกักเก็บพลังงานความร้อนของหอคอยพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าระบบรางพาราโบลิกจะทำให้สามารถจัดสรรพลังงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด โดยโรงไฟฟ้า CSP ระบบรางพาราโบลิกแต่ละโรงสามารถกักเก็บพลังงานได้ 13.5 ชั่วโมง ขณะที่หอคอยพลังงานแสงอาทิตย์กักเก็บพลังงานได้สูงสุด 15 ชั่วโมง

ไนเตรท ซึ่งเป็นตัวกลางเก็บความร้อนสำหรับโรงไฟฟ้า Parabolic Trough Plant-II ถูกเก็บไว้ในแท็งก์ 8 แท็งก์ โดยแต่ละแท็งก์มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 45 เมตร และมีความจุ 25,000 ลูกบาศก์เมตร สภาพแวดล้อมที่เป็นทะเลทรายแห้งแล้งถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ในการทดสอบครั้งนี้ และการขาดแคลนแรงงานในช่วงเดือนรอมฎอนก็ทำให้มีความไม่แน่นอนมากขึ้น แต่การทดสอบก็เสร็จสมบูรณ์ในเวลาที่กำหนด โดยมีการใช้รถบรรทุกน้ำในการขนถ่ายน้ำลงในแท็งก์น้ำชั่วคราว ก่อนที่จะปั๊มน้ำลงไปในแท็งก์เกลือหลอมเหลว 

"ผมขอชื่นชมคนงานในไซต์ทุกคนที่ทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อรับประกันว่าการทดสอบจะเสร็จสมบูรณ์อย่างรวดเร็วตามกำหนดเวลา แม้จะเผชิญกับความยากลำบากอย่างยิ่งเนื่องจากขาดแคลนแรงงานและอุณหภูมิในพื้นที่ก็สูงมาก" นายจ้าว หุย ผู้จัดการโครงการโรงไฟฟ้า CSP ในดูไบของบริษัท Shanghai Electric Power Generation Engineering Co. กล่าว

"ผลการทำงานที่โดดเด่นของพวกเขายังช่วยรับประกันความคืบหน้าในการติดตั้งท่อส่งในหอคอยกลางระบบ CSP ซึ่งเป็นแกนหลักและเป็นส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของโครงสร้างนี้ หอคอยมีพื้นที่เล็กมาก โดยท่อภายในหอคอยกลางมีความยาวรวมเพียง 500 กว่าเมตร ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่างานจะเสร็จตรงตามเวลา ทีมงานจึงวางแผนติดตั้งอย่างละเอียดถี่ถ้วน และเอาชนะปัญหาที่ไม่เคยเจอมาก่อนได้ทั้งหมดโดยไม่เกิดความล่าช้าใด ๆ" เขากล่าวเสริม

ระบบแท็งก์เกลือหลอมเหลวคือคำตอบของความท้าทายในการกักเก็บพลังงานความร้อน โดยการกักเก็บพลังงานความร้อนด้วยระบบเกลือหลอมเหลวช่วยให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าในวันที่มีเมฆมาก หรือในช่วงกลางคืนที่ยาวนานหลังพระอาทิตย์ตก ด้วยประสิทธิภาพการดำเนินงานในระดับสูงและต้นทุนต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงในระดับต่ำ ส่วนในช่วงเวลากลางวัน เกลือหลอมเหลวจะถูกหมุนเวียนจากแท็งก์เย็นไปยังเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนเพื่อดูดซับความร้อนจากน้ำมันที่มีอุณหภูมิสูง จากนั้นเกลือหลอมเหลวที่ถูกทำให้ร้อนจะถูกเก็บไว้ในแท็งก์ร้อนที่มีฉนวนหุ้ม เพื่อรอส่งไปเป็นพลังงานให้แก่กังหันไอน้ำในช่วงกลางคืนหรือในช่วงที่สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย

ในปี 2561 บริษัท Shanghai Electric ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับเหมาด้านวิศวกรรม การจัดซื้อ และการก่อสร้าง (EPC) ของโครงการ Mohammed bin Rashid Al Maktoum Solar Park เฟส 4 ในดูไบ หลังจากเซ็นสัญญากับ DEWA (Dubai Electricity and Water Authority) และ ACWA Power เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าระบบ CSP ขนาด 700 MW และระบบ PV ขนาด 250 MW และเนื่องจากได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุน Silk Fund ของจีน และ ACWA นี่จึงเป็นโปรเจคระดับแลนด์มาร์คภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative ของจีน รวมทั้งเป็นหลักชัยสำคัญของ Shanghai Electric ในการร่วมสร้างระบบสาธารณูปโภคพลังงานหมุนเวียนในตะวันออกกลาง และเปลี่ยนจากพลังงานถ่านหินมาเป็นพลังงานหมุนเวียน

จากการประเมินล่าสุดโดยสมาคมผู้รับเหมาระหว่างประเทศของจีนพบว่า ในปี 2564 Shanghai Electric รั้งอันดับ 17 ในบรรดาผู้รับเหมาระหว่างประเทศ 100 อันดับแรก รวมทั้งติดอันดับ 5 ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับการจัดอันดับให้เป็น "ผู้รับเหมาระหว่างประเทศระดับ A" ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของทางสมาคม

Source: Shanghai Electric
Related Stocks:
HongKong:2727 OTC:SIELY Shanghai:601727
Keywords: Alternative Energies Environmental Products & Services Oil/Energy Utilities