omniture

จีนเดินหน้าภารกิจแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

CGTN
2021-11-03 13:30 253

ปักกิ่ง--3 พ.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 เปิดฉากแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ถือเป็นการประชุมครั้งแรกตามวาระทบทวนหลังลงนามในความตกลงปารีสไปได้ 5 ปีนับตั้งแต่ปี 2558

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้เน้นย้ำถึงมุมมองของจีนในการจัดการกับความท้าทายด้านสภาพอากาศ และแสดงการสนับสนุนของจีนต่อความตกลงปารีสอย่างแข็งขัน พร้อมประกาศการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมของจีนเพื่อปกป้องโลก

ในแถลงการณ์ฉบับลายลักษณ์อักษรถึงการประชุมสุดยอดผู้นำโลกที่ COP26 ที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ปธน.จีนได้เน้นย้ำข้อเรียกร้องให้ทั่วโลกแสดงความสามัคคีและลงมือทำ เพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และให้ข้อเสนอแนะ 3 ประการต่อที่ประชุม ประกอบด้วย

การรักษาฉันทามติพหุภาคี

ปธน.สี กล่าวในแถลงการณ์ว่า "เมื่อพูดถึงความท้าทายระดับโลก เช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือของหลายฝ่ายเป็นหนทางที่ถูกต้อง" โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายสานต่อฉันทามติที่มีอยู่เดิม เพิ่มความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และยกระดับความร่วมมือเพื่อให้การประชุม COP26 ประสบความสำเร็จ

ประธานาธิบดีจีนยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศในระดับโลก โดยในปี 2558 ได้มีการกล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุม Paris Conference on Climate Change และเป็นส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์ที่นำไปสู่การสร้างความตกลงปารีส

ในการประชุมสุดยอด Climate Ambition Summit ในเดือนธันวาคม 2563 ประธานาธิบดีสีได้ประกาศความมุ่งมั่นเพิ่มเติมของจีนสำหรับปี 2573 สร้างความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในการดำเนินการตามความตกลงปารีส

เมื่อต้นเดือน ปธน.จีนยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการแบ่งปันผลของการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแก่ทุกประเทศ ระหว่างการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 15 (COP15) ร่วมกับผู้นำประเทศต่าง ๆ โดยที่จีนเป็นเจ้าภาพ

เน้นการกระทำที่เป็นรูปธรรม

 "วิสัยทัศน์จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อเราปฏิบัติตาม" ประธานาธิบดีสี กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ขณะที่เรียกร้องให้ทุกประเทศปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาของตน ตั้งเป้าหมายที่เป็นจริงได้ และพยายามอย่างเต็มที่ในการทำตามเงื่อนไขของประเทศ เพื่อดำเนินตามมาตรการรับมือด้านสภาพอากาศ

ดังที่ประธานาธิบดีจีนได้กล่าวไว้ จีนให้เกียรติคำพูดของตนด้วยการกระทำเสมอ ตามรายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระดับความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซคาร์บอนในประเทศในปี 2563 ลดลงกว่า 48.8% เมื่อเทียบกับปี 2548 และลดลง 18.8% เมื่อเทียบกับปี 2558 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จีนให้ความสำคัญกับความตกลงปารีสอย่างจริงจัง

นับจนถึงปลายปี 2563 เชื้อเพลิงที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิลคิดเป็นสัดส่วน 16% ของการใช้พลังงานหลักในจีน โดยจีนได้ยกเลิกการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงกว่า 120 ล้านกิโลวัตต์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

จีนได้เปิดตัวโครงการริเริ่มการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน การคมนาคมขนส่ง และการเงินสีเขียว ภายใต้กรอบความคิดริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) ด้วยเช่นกัน โดยในปี 2563 กว่า 57% ของการลงทุนจากจีนในประเทศหุ้นส่วน BRI เน้นไปที่โครงการพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 38% ในปี 2562

ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ประธานาธิบดีจีนได้เน้นย้ำบทบาทของนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเรียกร้องให้มีการส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงสำรวจเส้นทางใหม่ที่ประสานการพัฒนากับการอนุรักษ์เข้าไว้ด้วยกัน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ จีนได้เผยแพร่แนวทางสำคัญ 2 ประการ ประกอบด้วยเอกสารการออกแบบระดับบนว่าด้วยการปล่อยคาร์บอนสูงสุดและการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน และแผนปฏิบัติการเพื่อการปล่อยคาร์บอนสูงสุดก่อนปี 2573

จีนจะเดินหน้าเผยแพร่แผนปฏิบัติการเจาะจงขอบข่ายสำคัญ เช่น พลังงาน อุตสาหกรรม การก่อสร้าง และการขนส่ง และสำหรับภาคส่วนสำคัญ เช่น ถ่านหิน ไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า และซีเมนต์ ควบคู่ไปกับมาตรการสนับสนุนในแง่ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แหล่งดูดซับคาร์บอน การคลังและภาษี และแรงจูงใจทางการเงิน

แผนการเหล่านี้จะร่วมกันจะสร้างกรอบนโยบาย "1+N" ของจีน เพื่อช่วยให้ประเทศบรรลุคำมั่นที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้สูงสุดก่อนปี 2573 และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนก่อนปี 2603 ด้วยตารางเวลา แผนงาน และแผนแม่บทที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน

https://news.cgtn.com/news/2021-11-02/From-COP15-to-COP26-China-calls-for-unite-actions-to-protect-Earth-14R8MSzM208/index.html

Source: CGTN
Related Links:
Keywords: Computer/Electronics Environmental Products & Services Multimedia/Online/Internet Publishing/Information Service
Related News