ปักกิ่ง—4 ม.ค.—พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
ย้อนกลับไปเมื่อคริสต์ทศวรรษ 1980 จีนได้เปิดโอกาสให้คนบางกลุ่มสร้างฐานะของตนเองขึ้นมาก่อน เพื่อช่วยให้ผู้อื่นเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกันตามยุทธศาสตร์ชาติ บัดนี้ ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันได้กลายเป็นหนทางสำคัญในการมอบความสุขให้ประชาชนทุกคน
ในปี 2564 จีนได้บรรลุเป้าหมายในการสร้างสังคมที่มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างพอสมควรในทุกด้าน (หรือที่เรียกว่า "เสี่ยวคัง" ในภาษาจีน) และได้เริ่มต้นอย่างน่าประทับใจตามแผน 5 ปี (FYP) ฉบับที่ 14 ประจำปี 2564-2568
นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวขณะอวยพรปีใหม่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า "เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนมีชีวิตดีขึ้น เราไม่ควรหยุดทำสิ่งที่เราได้บรรลุไว้ และหนทางยังอีกยาวไกล"
เดินหน้าตามแผนที่วางไว้
ในปีแรกของแผน 5 ปี ฉบับที่ 14 จีนได้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้ โดยเน้นปรัชญาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและให้ความสำคัญในการสร้างกระบวนทัศน์ความก้าวหน้าขึ้นมาใหม่ พร้อมเสริมสร้างบทบาทของนวัตกรรม และยกระดับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม
ปรัชญาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางเป็นกุญแจสำคัญในความสำเร็จอันน่าทึ่งของจีนในหลายทศวรรษที่ผ่านมา และจะนำพาประเทศชาติสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน โดยหลังจากที่จีนกำจัดความยากจนสุดขีดให้หมดไปและบรรลุเป้าหมาย "เสี่ยวคัง" ได้แล้ว จีนก็ได้เดินบนเส้นทางใหม่สู่ความเป็นสังคมนิยมสมัยใหม่และฟื้นฟูชาติ
ปธน.สี ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ด้วยนั้น ได้กล่าวในสุนทรพจน์เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมว่า "ในวันข้างหน้านั้น เราจำเป็นต้องพึ่งพาประชาชนเพื่อสร้างประวัติศาสตร์" โดยได้ให้คำมั่นว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเข้ามาคลายความกังวลของประชาชน พร้อมส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันให้ทุกคน
บรรดาผู้นำจีนได้เน้นย้ำความสำคัญในการสร้างและสั่งสมความมั่งคั่งทางสังคม และป้องกันไม่ให้มีการแบ่งแยกในคราวเดียวกัน ประการแรก ชาวจีนทุกคนจำเป็นต้องร่วมงานกันเพื่อทำให้ "เค้ก" ก้อนนี้ใหญ่ขึ้นและดีขึ้น และควรแบ่ง "เค้ก" ที่ว่านี้อย่างเหมาะสมโดยมีสถาบันเป็นผู้จัดการ ตามแถลงการณ์ที่เผยแพร่หลังการประชุมแผนพัฒนาเศรษฐกิจเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
นอกจากจะให้ความสำคัญกับตลาดจีนมากยิ่งขึ้นแล้ว จีนยังได้เน้นย้ำความตั้งใจในการเปิดกว้างและแบ่งปันโอกาสในการพัฒนาให้กับโลกใบนี้
จีนยกให้นวัตกรรมเป็นหัวใจหลักของการส่งเสริมความทันสมัย โดยได้สร้างความก้าวหน้ามากมายในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมอย่างเสินโจว-13 (Shenzhou-13) การส่งยานเทียนเวิ่น-1 (Tianwen-1) สำรวจดาวอังคาร ความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมผลิตชิป และควอนตัมคอมพิวเตอร์
จีนยังส่งเสริมความก้าวหน้าอย่างใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยได้เน้นย้ำพันธสัญญาในการปล่อยคาร์บอนถึงเพดานสูงสุดภายในปี 2573 ก่อนที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2603 พร้อมเปิดตัวนโยบายมากมายเพื่อสนับสนุนเป้าหมายเหล่านี้
ในปี 2564 จีนได้เห็นการเดินทางผจญภัยของช้างเอเชียที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก ให้คำมั่นในการเพิ่มการลงทุนเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ เปิดตัวโครงการพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ทะเลทราย และย้ำชัดพันธสัญญาในการต่อสู้ปัญหาโลกร้อน
เป้าหมายหลักของปธน.สีขณะลงพื้นที่สัญจรทั่วประเทศ
ปธน.สีได้ลงพื้นที่สัญจร 11 ครั้งทั่วประเทศจีนในปีที่ผ่านมา โดยได้ทิ้งผลงานไว้ในหลายที่ ปธน.สีได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญมากมายขณะสัญจร ซึ่งสะท้อนให้เห็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาประเทศตามแผน 5 ปี ทั้งฉบับที่ 14 และฉบับต่อ ๆ ไป
ไม่ว่าจะเป็นสถานที่จัดมหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาวประจำปี 2565 ไปจนถึงหมู่บ้านห่างไกล เขตสงวน และบริษัทขนาดเล็ก การเดินทางเยือนของปธน.สีได้แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของจีนในการยกระดับระบบนิเวศ และเดินหน้าตามเป้าหมายในการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ ล้ำนวัตกรรม และใส่ใจสิ่งแวดล้อม
"ประชาชน" "ระบบนิเวศ" "นวัตกรรม" "คุณภาพสูง" "ความมั่นคง" "วัฒนธรรม" "บริการ" "การศึกษา" "เทคโนโลยี" และ "พื้นที่ชนบท" เป็นคำที่ปธน.สีเอ่ยถึงมากที่สุดขณะลงพื้นที่สัญจรในปี 2564 จากการวิเคราะห์ของ CGTN
ในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง ปธน.สีได้แสดงความเป็นห่วงประชาชนอย่างลึกซึ้ง เขาได้เดินทางเยือนฐานการปฏิวัติเก่า พื้นที่ของชนกลุ่มน้อย และพื้นที่ที่โครงสร้างพื้นฐานย่ำแย่ สภาพสิ่งแวดล้อมบอบบาง และจุดที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้ง เขาได้พบปะกับคนฐานะยากจน พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในท้องที่ ตรวจสอบพื้นที่ และประเมินแผนงานในการบรรเทาความยากจน
ขณะเยือนมณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เขาได้เน้นย้ำความสำคัญในการบุกเบิกเส้นทางใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศและการพัฒนาอย่างใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ เขายังได้เน้นย้ำการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพบนที่ราบสูงชิงไห่ทิเบต รวมถึงสภาพแวดล้อมทางระบบนิเวศในแอ่งแม่น้ำหวงเหอ และไซ่ฮันป้าซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่แห้งแล้งในมณฑลเหอเป่ย์ทางตอนเหนือของจีนที่ต่อมาได้พลิกโฉมเป็นป่าที่มนุษย์สร้างขนาดใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก ขณะลงพื้นที่เยือนมณฑลชิงไห่ เหอหนาน ซานตง เหอเป่ย์ ไปจนถึงเขตปกครองตนเองทิเบต
เมื่อภาวะแวดล้อมภายนอกมีความซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ ปธน.สีได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปโครงสร้างฝั่งซัพพลายในระดับที่ล้ำลึกกว่าเดิม สร้างกระบวนทัศน์การพัฒนาขึ้นใหม่ และยกระดับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพในวาระต่าง ๆ