อัลอูลา, ซาอุดีอาระเบีย
11 กุมภาพันธ์ 2565
/PRNewswire/ -- สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และอาคารแลนด์มาร์กหลายแห่งในซาอุดีอาระเบีย โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พร้อมใจกันฉายภาพเสือดาวอาระเบียเนื่องในวันเสือดาวอาระเบียครั้งแรก ในค่ำคืนวันที่ 10 กุมภาพันธ์ โดยภาพของเสือที่สง่างามน่าเกรงขามแต่กำลังอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ได้ถูกฉายพร้อมกันบนอาคารของมูลนิธิคิงไฟซาล (King Faisal Foundation) ในกรุงริยาด, อาคารคิงโร้ดทาวเวอร์ (King Road Tower) ในเมืองญิดดะฮ์, อาคารอาเดียร์ทาวเวอร์ (Adeer Tower) ในเมืองอัลโคห์บาร์, หินรูปช้าง (Elephant Rock) ในเมืองอัลอูลา รวมไปถึงอาคารเบิร์จคาลิฟา (Burj Khalifa) และพาวิลเลียนของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียในงานเอ็กซ์โป 2020 (Expo 2020) ที่ดูไบ นอกจากนั้นยังมีป้ายบิลบอร์ดไฟฟ้าที่โดดเด่นสะดุดตาบนถนนมหาวิทยาลัยสุลต่านคาบูส (Sultan Qaboos University Road) ในกรุงมัสกัต ประเทศโอมาน
ดูข่าวประชาสัมพันธ์ในรูปแบบมัลติมีเดียได้ที่
https://www.multivu.com/players/uk/9015551-inaugural-arabian-leopard-day-kicks-off-spotlight-saving-the-species/
ทั่วทั้งภูมิภาคยังมีการฉลองวันเสือดาวอาระเบียด้วยการจัดกิจกรรมให้ความรู้ในห้องเรียนและกิจกรรมทางโซเชียมีเดียตลอดทั้งวันผ่านแฮชแท็ก #ArabianLeopardDay นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแสดงการสนับสนุนจากภาครัฐ หน่วยงานรัฐหลายแห่งในซาอุดีอาระเบียได้แสดงโลโก้วันเสือดาวอาระเบียทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียของหน่วยงานด้วย
ในโอกาสสำคัญนี้ ราชกรรมาธิการอัลอูลาได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ร่วมกับมูลนิธิแคตโมสเฟียร์ เพื่อสนับสนุนความพยายามระดับภูมิภาคในการปกป้องอนาคตของเสือดาวอาระเบีย โดยราชกรรมาธิการอัลอูลาและแคตโมสเฟียร์จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในกิจกรรมเชิงนวัตกรรมและกิจกรรมด้านความยั่งยืน แคมเปญรณรงค์ และการวิจัย โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการปกป้องอนาคตของเสือดาวอาระเบีย สัตว์ซึ่งเป็นเกียรติยศของชาติและทั่วทั้งภูมิภาค
วันเสือดาวอาระเบียครั้งแรกตอกย้ำถึงวิกฤตที่เกิดกับเสือสายพันธุ์นี้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเดินท่องอย่างเสรีทั่วคาบสมุทรอาระเบีย แต่ขณะนี้กลับกลายเป็นเพียงกลุ่มประชากรเสือขนาดเล็กที่กระจัดกระจายอยู่ในซาอุดีอาระเบีย โอมาน และเยเมน
เจ้าชายบาดร์ บิน อับดุลเลาะห์ บิน โมฮัมหมัด บิน ฟาร์ฮาน อัล ซาอุด ผู้ว่าการเมืองอัลอูลา และรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า "การลงนามบันทึกความเข้าใจถือเป็นการสนับสนุนโครงการอนุรักษ์เสือดาวอาระเบียของราชกรรมาธิการอัลอูลา ซึ่งเป็นหัวใจของแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ครอบคลุมทั่วทั้งอัลอูลา ความตกลงครั้งนี้ยังช่วยกระชับความร่วมมือที่มีอยู่แต่เดิมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์ตามธรรมชาติ รวมถึงองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN)
เจ้าหญิงรีมา บินท์ บันดาร์ บิน สุลต่าน บิน อับดุลลาซิซ อัล ซาอุด เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียประจำสหรัฐอเมริกา และผู้ก่อตั้งมูลนิธิแคตโมสเฟียร์ กล่าวว่า "การลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งใหม่นี้ช่วยสนับสนุนพันธกิจของแคตโมสเฟียร์ในการปกป้องอนาคตของเสือ ซึ่งรวมถึงเสือดาวอาระเบีย โดยเป็นการสนับสนุนความพยายามด้านการอนุรักษ์ในระดับภูมิภาค ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนราชกรรมาธิการอัลอูลาในการบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ เพื่อนำเสือสายพันธุ์นี้กลับคืนสู่ธรรมชาติ"
อัมร์ อัลมาดานี (Amr AlMadani) ซีอีโอของราชกรรมาธิการอัลอูลา กล่าวว่า "เสือดาวอาระเบียเป็นสัญลักษณ์ที่ทรงพลังซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นของราชกรรมาธิการอัลอูลาในการอนุรักษ์และปกป้องสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของเมืองอัลอูลาผ่านความพยายามในการอนุรักษ์อย่างครอบคลุม ซึ่งออกแบบมาเพื่อปกป้องพันธุ์พืชและสัตว์ตามธรรมชาติในพื้นที่อันน่าทึ่งของภูมิภาคอาระเบียตะวันตกเฉียงเหนือ ความจริงที่น่าเศร้าคือเสือดาวอาระเบียกำลังประสบกับภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง และการทำลายถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของเสือชนิดนี้ตอกย้ำว่าจำเป็นต้องมีการยกระดับความพยายามในการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อความอยู่รอดในระยะยาวของเสือสายพันธุ์นี้ เราต้องการให้ทุกคนร่วมฉลองวันเสือดาวอาระเบีย มีส่วนร่วมในกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ และช่วยปกป้องเสือที่สง่างามสายพันธุ์นี้"
เสือดาวอาระเบียสะท้อนถึงเป้าหมายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมของซาอุดีอาระเบียและราชกรรมาธิการอัลอูลา เสือสายพันธุ์นี้มีสถานะพิเศษในแง่ของจิตสำนึกร่วมและจินตนาการร่วมของภูมิภาคแห่งนี้ โดยมีการค้นพบภาพของเสือดาวอาระเบียบนหินโบราณ มีนิทานพื้นบ้านเกี่ยวกับเสือดาวอาระเบีย อีกทั้งยังปรากฏอยู่ในสำนวนภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันมาจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบัน เสือดาวอาระเบียในธรรมชาติมีจำนวนไม่ถึง 200 ตัว จึงจัดเป็นสายพันธุ์สัตว์ที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งโดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ และถือว่ามีความเสี่ยงสูงมากที่จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ
เมื่อปีที่แล้ว ลูกเสือตัวเมียได้ถือกำเนิดขึ้นที่ศูนย์ขยายพันธุ์เสือดาวอาระเบียในเมืองทาอีฟ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้อย่างมากในการนำเสือสายพันธุ์นี้กลับคืนสู่ป่าและภูเขารอบเมืองอัลอูลาและพื้นที่อื่น ๆ อย่างไรก็ตาม หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกลและมีความยากลำบาก โดยขณะนี้มีความพยายามในการสร้างถิ่นที่อยู่อนุรักษ์เพื่อฟื้นฟูประชากรเสือ
ราชกรรมาธิการอัลอูลา ซึ่งกำลังดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ขนาด 22,561 ตารางกิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบียให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลกในด้านมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ได้มอบเงิน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่กองทุนเสือดาวอาระเบีย (Arabian Leopard Fund) องค์กรอิสระซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินโครงการอนุรักษ์ทั่วอาณาเขตหากินของเสือ นอกจากนี้ ราชกรรมาธิการอัลอูลาได้กำหนดเขตอนุรักษ์ทางธรรมชาติ 5 เขต ครอบคลุมพื้นที่ 12,500 ตารางกิโลเมตร และจะทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้า เช่น แพนเธร่า (Panthera) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อดำเนินการสร้าง อนุรักษ์ และปกป้องเขตอนุรักษ์เหล่านี้ ด้วยการตั้งปณิธานว่าวันหนึ่งเสือดาวจะต้องสามารถเดินท่องไปได้อย่างเสรีอีกครั้ง
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบียได้กำหนดให้วันที่ 10 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันเสือดาวอาระเบีย
หมายเหตุถึงบรรณาธิการ:
ชื่อเมืองอัลอูลาในภาษาอังกฤษต้องสะกดว่า AlUla เสมอ
เราได้เผยแพร่รูปภาพสถานที่ที่มีการฉายภาพเสือดาวอาระเบียในเวลา 19.10 น. ของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ตามเวลาราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย สามารถดูสื่อเพิ่มเติมและคำถามที่พบบ่อยได้ที่นี่
เกี่ยวกับราชกรรมาธิการอัลอูลา
ราชกรรมาธิการอัลอูลา ก่อตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาในเดือนกรกฎาคมปี 2560 เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเมืองอัลอูลาในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ แผนการระยะยาวของราชกรรมาธิการอัลอูลาคือการพัฒนาเศรษฐกิจและเมืองด้วยความระมัดระวัง รับผิดชอบ และยั่งยืน พร้อมกับอนุรักษ์มรดกทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติในพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมให้เมืองอัลอูลาเป็นจุดหมายปลายทางการอยู่อาศัย ทำงาน และท่องเที่ยว เป้าหมายเหล่านี้ก่อให้เกิดโครงการมากมายทั้งในด้านโบราณคดี การท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา และศิลปะ ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการตอบสนองต่อความหลากหลายทางเศรษฐกิจ การสร้างพลังให้กับชุมชน และการอนุรักษ์มรดกตกทอดตามวิสัยทัศน์ปี 2573 หรือ Vision 2030 ของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
สื่อมวลชนติดต่อ:
จินิธ จอย (Jinith Joy)
ที่ปรึกษา บริษัท ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์ (Hill+Knowlton Strategies)
โทร. 00971 50 7219369
วิดีโอ - https://mma.prnasia.com/media2/1744056/AlUla_Elephant_Rock.mp4
รูปภาพ - https://mma.prnasia.com/media2/1744054/Royal_Commission_for_AlUla.jpg?p=medium600