omniture

"หัวเว่ย" เปิดตัวโซลูชันตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ 2.0 ตรวจหาความเสี่ยงและปกป้องสายส่งไฟฟ้า

Huawei
2022-03-04 12:57 185

บาร์เซโลนา, สเปน--4 มี.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

"หัวเว่ย" เปิดตัวโซลูชันตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ 2.0
"หัวเว่ย" เปิดตัวโซลูชันตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ 2.0

ในช่วงการประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัลของอุตสาหกรรมภายในงานโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส ประจำปี 2565 (Mobile World Congress 2022) หัวเว่ย (Huawei) ได้เปิดตัวโซลูชันตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ 2.0 (Intelligent Power Transmission Line Inspection Solution 2.0) โดยแบ่งเป็น 2 โซลูชันย่อย ประกอบด้วยการจำลองภาพช่องทางนำส่งและความปลอดภัยของฐานเสาไฟฟ้า โดยมุ่งแก้ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าด้วยมือและความปลอดภัยของเส้นรอบฐานเสาไฟฟ้า ทั้งนี้คาดว่าโซลูชันดังกล่าวนี้จะช่วยให้องค์กรผู้ให้บริการพลังงานไฟฟ้าตรวจพบแต่ละกรณีความเสี่ยงและปกป้องสายส่งไฟฟ้าแต่ละเส้นได้

การตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าด้วยมือแบบดั้งเดิมมีประเด็นปัญหาหลายประการ ทั้งในด้านความปลอดภัย การบริหารจัดการ ประสิทธิภาพ การตอบสนอง การดำเนินงานแบบเรียลไทม์ และความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ หัวเว่ยได้พัฒนาโซลูชันตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ 1.0 ซึ่งบูรณาการวิสัยทัศน์แบบอัจฉริยะ พลังงาน ณ สถานที่ใช้งาน และการเชื่อมต่อด้วยสัญญาณคลื่นไมโครเวฟ (microwave backhaul) โซลูชันดังกล่าวนี้ช่วยให้การส่งข้อมูลเป็นไปอย่างเชื่อถือได้และแสดงภาพสถานะของสายส่งไฟฟ้าในสภาพแวดล้อมที่สัญญาณหายไป ไม่มีแหล่งพลังงานพร้อมใช้ และการจำลองภาพทำได้ยาก โซลูชันเวอร์ชั่น 2.0 ที่ได้รับปรับปรุงนี้ได้เพิ่มฟังก์ชันสำคัญหลายประการ รวมถึงการเชื่อมเรดาร์กับวิดีโอที่มีการตรวจประเมินสภาพต่าง ๆ บริเวณรอบฐานเสาไฟฟ้า จึงทำให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีความปลอดภัย

ฐานของเสาไฟฟ้าเป็นเหมือนโครงที่รองรับการทำงานอย่างมีเสถียรภาพและเชื่อถือได้ของสายส่งไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ฐานเสาไฟฟ้าต้องประสบกับภัยคุกคามหลายประการ ทั้งภัยธรรมชาติและอื่น ๆ ขณะเดียวกันการตรวจสอบด้วยมือมีความอันตรายและต้องทำในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก ด้วยเหตุนี้หัวเว่ยจึงได้เพิ่มเรื่องความปลอดภัยที่บริเวณฐานของเสาไฟฟ้าในโซลูชันการตรวจสอบเวอร์ชั่นอัปเกรดนี้ ขณะนี้โซลูชันนี้สามารถปรับเข้ากับโซลูชันต่าง ๆ ของสายส่งไฟฟ้าสำหรับหลายระยะทาง ควบคุมกล้องสูงสุด 600,000 ตัว และประมวลผลข้อมูลปริมาณมหาศาล ศูนย์การตรวจสอบและทีมงานทำงานร่วมกันเพื่อให้การสนับสนุนทุกขั้นตอนของการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมเรดาร์กับวิดีโอ ทำให้เกิดการตรวจสอบที่ครอบคลุมอย่างสมบูรณ์และช่วยตรวจจับการรุกล้ำของบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตได้แบบเรียลไทม์

โซลูชันตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ 2.0 ของหัวเว่ยบูรณาการ 4 สมรรถนะหลัก ได้แก่ อัลกอริทึมความแม่นยำสูงที่หลากหลาย เทคโนโลยีที่มีการจัดการระบบเครือข่ายด้วยตัวเองซึ่งปลอดภัยและควบคุมได้ ผลิตภัณฑ์แบบบูรณาการที่มีน้ำหนักเบาและติดตั้งได้ง่าย และการปฏิบัติการและบำรุงรักษาที่มีขั้นตอนรวดเร็ว พร้อมทั้งแบตเตอรี่ที่มีอายุการใช้งานยาวนาน โซลูชันนี้ให้การปกป้องสายส่งไฟฟ้าแต่ละสายด้วยการทำให้ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมุ่งเน้นประสบการณ์

  • ปลอดภัย: ใช้การตรวจสอบอัจฉริยะแทนการไปตรวจดูด้วยตนเอง ณ สถานที่จริง วิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากระยะไกล เพิ่มความหนาแน่นของความครอบคลุมในการตรวจสอบจาก 60% เป็น 100% ลดความถี่ของเหตุไฟฟ้าขัดข้องในแต่ละปี ป้องกันการเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องชั่วคราวที่ไม่ได้มีการวางแผนไว้ได้ 90% และทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพและปลอดภัยสำหรับทั้งอุตสาหกรรม
  • มีประสิทธิภาพ: ลดระยะเวลาการตรวจสอบจาก 20 วันเหลือ 2 ชั่วโมง ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 80 เท่า เชื่อมต่อแพลตฟอร์มอัจฉริยะเข้ากับแอปเพื่อทำให้บริการเป็นดิจิทัล จึงช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการตอบสนองและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการภาระงานได้ 30%
  • เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม: ลดจำนวนบุคลากรและยานพาหนะที่ใช้ในการตรวจสอบ จึงช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน ตัวอย่างเช่น สำหรับทุกระยะ 5,000 กม.ของสายส่งไฟฟ้า คาดว่าโซลูชันนี้สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 16.2 ตันต่อปีสำหรับยานพาหนะแต่ละคัน นอกจากนี้โซลูชันนี้ยังช่วยในการระบุเหตุฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว (อย่างเช่นไฟป่า) ปกป้องธรรมชาติ และเพิ่มความเชื่อถือได้ของการมีแหล่งพลังงาน
  • มุ่งเน้นประสบการณ์: บุคลากรไม่จำเป็นต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากบ่อยครั้งเท่าเดิมเมื่อมีอุปกรณ์อัจฉริยะ และเมื่อต้องทำ โซลูชันนี้ช่วยให้การทำงานเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยมากกว่า จึงช่วยยกระดับประสบการณ์การทำงานของบุคลากรได้

หัวเว่ยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) บูรณาการเข้ากับระบบไฟฟ้า การบูรณาการดังกล่าวนี้เป็นรากฐานสำคัญของโซลูชันตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ 2.0 โดยมาพร้อมกับฟีเจอร์การตรวจสอบโดยไม่ต้องใช้บุคลากร การแสดงภาพช่องทางนำส่ง การบำรุงรักษาที่เรียบง่าย และภาระงานที่เบาลง ในอนาคต หัวเว่ยจะลงลึกในด้านสภาวการณ์ต่าง ๆ ของอุตสาหกรรม และออกผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่เชื่อถือได้ คุ้มค่าต้นทุน และเหมาะสมกับอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า เรามุ่งช่วยทำให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีการดำเนินงานที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

มหกรรมโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส ประจำปี 2565 จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 3 มีนาคม ณ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน โดยหัวเว่ยได้ร่วมนำเสนอผลิตภัณฑ์และโซลูชันต่าง ๆ ที่บูธ 1H50 ในฟีรา กรัน เวีย ฮอลล์ 1 (Fira Gran Via Hall 1) ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://e.huawei.com/en/events/huawei-enterprise-mwc-2022

เกี่ยวกับหัวเว่ย

หัวเว่ย ก่อตั้งขึ้นในปี 2530 เป็นผู้นำของโลกด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และอุปกรณ์อัจฉริยะ เรามีพนักงานกว่า 197,000 คน และดำเนินงานในกว่า 170 ประเทศและภูมิภาค เพื่อให้บริการลูกค้ากว่า 3 พันล้านคนทั่วโลก วิสัยทัศน์และพันธกิจของเราคือ การนำดิจิทัลไปสู่ทุกคน ทุกบ้าน และทุกองค์กร เพื่อโลกอัจฉริยะที่เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์ หัวเว่ยให้ความสำคัญกับสถานการณ์ทางธุรกิจของลูกค้า และเดินหน้าลงทุนในการวิจัยและพัฒนา และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ในด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล หัวเว่ยผนึกกำลังกับลูกค้าและพันธมิตรทั่วโลก เพื่อบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ากับธุรกิจภาคอุตสาหกรรม เร่งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนการยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัล ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล สนับสนุนการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนตามสโลแกน New Value Together (สร้างคุณค่าใหม่ไปด้วยกัน) โดยนับจนถึงปลายปี 2564 หัวเว่ยได้รับความไว้วางใจจากกว่า 700 เมืองทั่วโลก และบริษัทระดับฟอร์จูน โกลบอล 500 (Fortune Global 500) รวม 267 แห่ง โดยได้รับเลือกให้เป็นพันธมิตรด้านการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวเว่ยได้ทาง

www.huawei.com หรือติดตามเราทาง:
http://www.linkedin.com/company/Huawei
http://www.twitter.com/Huawei 
http://www.facebook.com/Huawei 
http://www.youtube.com/Huawei

Source: Huawei
Keywords: Computer Hardware Computer Networks Computer Software Computer/Electronics Internet Technology Telecommunications Telecommunications Equipment Trade show news
Related News