omniture

หัวเว่ย เปิดตัวเครือข่ายอัจฉริยะสีเขียว "อ็อปติกซ์" นำเสนอห้าโซลูชันเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของอุตสาหกรรม

Huawei
2022-03-04 13:14 247

บาร์เซโลนา, สเปน--4 มีนาคม 2565--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

หัวเว่ย เปิดตัวเครือข่ายอัจฉริยะสีเขียว "อ็อปติกซ์"
หัวเว่ย เปิดตัวเครือข่ายอัจฉริยะสีเขียว "อ็อปติกซ์"

ในมหกรรมโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส ประจำปี 2565 (Mobile World Congress 2022) คุณริชาร์ด จิน รองประธานบริษัทหัวเว่ย (Huawei) และประธานฝ่ายไลน์ผลิตภัณฑ์ธุรกิจระบบนำแสง ได้เปิดตัวเครือข่ายอัจฉริยะสีเขียวอ็อปติกซ์ (Green Intelligent OptiX Network) สำหรับองค์กร ซึ่งประกอบด้วยห้าโซลูชันสุดล้ำ ได้แก่ ใยแก้วสู่สำนักงาน (Fiber To The Office: FTTO), ใยแก้วสู่เครื่องจักร (Fiber To The Machine: FTTM), อ็อปติกซ์แบบเดี่ยว (Single OptiX), อ็อปติกซ์สำหรับศูนย์ข้อมูล (DC OptiX) และอ็อปติกซ์การตรวจจับ (Sensing OptiX) เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของอุตสาหกรรม

โซลูชันใยแก้วสู่สำนักงาน (FTTO): หัวเว่ยได้บูรณาการข้อได้เปรียบทางเทคนิคของทรัพย์สินทางปัญญาและผลิตภัณฑ์ออปติคอลของบริษัท เพื่อนำเสนอโซลูชันใยแก้วสู่สำนักงานสำหรับสร้างเครือข่ายแคมปัสที่เรียบง่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โซลูชันดังกล่าวช่วยลดความซับซ้อนของสถาปัตยกรรมเครือข่ายจากเลเยอร์สามชั้นเหลือสองชั้น ทำให้ไม่ต้องใช้พื้นที่สำหรับแรงดันไฟฟ้าต่ำเป็นพิเศษ ยิ่งไปกว่านั้น สถาปัตยกรรมแบบจุดต่อหลายจุด (P2MP) ยังช่วยลดการลงทุนในโมดูลออปติคอลได้ถึง 50% นอกจากนี้ เทอร์มินอลออปติคอลยังรองรับเทคโนโลยีการเสียบต่อเข้าด้วยกันเพื่อเชื่อมอุปกรณ์ (plug-and-play) และการสลับอุปกรณ์ (swap-and-play) จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและการบำรุงรักษาได้ถึง 50% พร้อมกันนี้ หัวเว่ยได้เปิดตัวอ็อปติกซ์สตาร์ พี871อี (OptiXstar P871E) หน่วยเครือข่ายออปติคอล (ONU) ตัวแรกของอุตสาหกรรมที่รองรับแบนด์วิดท์ 10 กิกะบิตต่อวินาที (Gbps) และอ็อปติกซ์สตาร์ เอส890เอช (OptiXstar S890H) หน่วยเครือข่ายออปติคอลขนาดเล็กที่สุดในอุตสาหกรรมด้วยน้ำหนักเพียง 10 กรัม

โซลูชันใยแก้วสู่เครื่องจักร (FTTM): โซลูชันนี้เน้นการใช้งานในโรงงาน รถไฟใต้ดิน เหมืองถ่านหิน ท่าเรือ และทางหลวง โดยมีความหน่วงต่ำและความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งตอบสนองความต้องการของเครือข่ายเชิงอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี สำหรับการใช้งานในท่าเรือนั้น เครือข่ายใยแก้วสู่เครื่องจักรนี้มีความหน่วงต่ำเป็นพิเศษ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถควบคุมเครื่องจักรจากระยะไกลถึง 100 กิโลเมตรได้ จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานได้อย่างมีนัยสำคัญ โซลูชันนี้ยังช่วยให้เกิดความปลอดภัยภายในเครือข่ายใต้ดิน (เช่น เครือข่ายใต้ดินของเหมืองถ่านหิน) และขจัดความเสี่ยงที่เกิดจากประกายไฟ ส่วนในบริเวณชุมสายนั้น สถาปัตยกรรมแบบกระจายของโซลูชันนี้ใช้สายเคเบิลออปติคอลและสายไฟฟ้าเพียงอย่างละหนึ่งเส้นเท่านั้น ซึ่งต่างจากโซลูชันแบบเดิมที่ต้องใช้หลายร้อยเส้น จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านวิศวกรรมได้ถึง 80%

โซลูชันอ็อปติกซ์แบบเดี่ยว (Single OptiX): หัวเว่ยเปิดตัวโซลูชันเครือข่ายเนทีฟฮาร์ดไปป์ (Native Hard Pipe: NHP) ซึ่งรองรับเทคโนโลยีฮาร์ดไปป์รุ่นที่ห้าที่เรียกว่าหน่วยบริการออปติคอล (Optical Service Unit: OSU) ทั้งยังสามารถทำงานร่วมกับการกล้ำรหัสของพัลส์ (Pulse Code Modulation: PCM), การวางลำดับดิจิทัลแบบซิงโครนัส (Synchronous Digital Hierarchy: SDH), เครือข่ายการขนส่งออปติคอล (Optical Transport Network: OTN) และเทคโนโลยีอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเครือข่าย NHP มีการบูรณาการเครือข่ายการนำส่งและเครือข่ายการเข้าถึงเข้าด้วยกันเป็นครั้งแรก ส่งผลให้เทคโนโลยีการส่งผ่าน OSU เกิดการแยกส่วนระบบทางกายภาพแบบครบวงจรและทำให้บริการมีความเชื่อถือได้สูง เทคโนโลยีนี้สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายในระบบพลังงานไฟฟ้าและระบบรถไฟใต้ดิน โดยการขยายเครือข่ายลงใต้ดินทำให้สามารถผนวกรวมระบบจ่ายกำลังไฟฟ้าอัตโนมัติเข้ากับระบบตรวจสอบอัจฉริยะ หรือระบบข้อมูลผู้โดยสารรถไฟใต้ดินเข้ากับระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติได้ภายในเครือข่ายเดียว จึงช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพได้เป็นอย่างดี

โซลูชันอ็อปติกซ์สำหรับศูนย์ข้อมูล (DC OptiX): หัวเว่ยบูรณาการจุดแข็งของผลิตภัณฑ์การจัดเก็บและการสื่อสารออปติคอล เพื่อเปิดตัวโซลูชันการประสานงานการจัดเก็บกับการเชื่อมต่อออปติคอล (Storage-Optical Connection Coordination: SOCC) ซึ่งใช้เครือข่ายออปติคอลในการตรวจจับความขัดข้องของการเชื่อมต่อและสลับเส้นทางเส้นใยได้ภายใน 5 มิลลิวินาที นอกจากนั้นยังสามารถเฝ้าระวังความผันผวนของความเร็วเครือข่ายใยแก้วได้แบบเรียลไทม์และแจ้งไปยังอุปกรณ์การจัดเก็บ โซลูชันนี้ยังสามารถสลับช่องทางระบบรับและแสดงผล (I/O) ได้ภายใน 1 วินาที จึงทำให้การสูญเสียข้อมูลเป็นศูนย์และช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของเครือข่ายได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้ปรับปรุงสมรรถนะของระบบเชื่อมต่อดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center Interconnect: DCI) จาก 88 เทราบิตต่อวินาที (Tbps) เป็น 96 เทราบิตต่อวินาทีต่อหนึ่งเส้นใยแก้ว จึงช่วยลดต้นทุนค่าเช่าเส้นใยแก้วและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของลูกค้า

โซลูชันอ็อปติกซ์การตรวจจับ (Sensing OptiX): ด้วยประสบการณ์ด้านการพัฒนานวัตกรรมและประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีออปติคอลมานาน 30 ปี หัวเว่ยได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ตรวจจับออปติคอลตัวแรกของบริษัท นั่นคือ อ็อปติกซ์เซนส์ อีเอฟ3000 (OptiXsense EF3000) ซึ่งพัฒนาขึ้นจากผลการวิจัยอัลกอริทึมการตรวจจับอัจฉริยะ ผลิตภัณฑ์นี้ใช้กับท่อส่งน้ำมันและก๊าซเป็นหลัก โดยช่วยให้องค์กรสามารถสร้างวิธีการตรวจสอบแบบใหม่ที่ไม่ต้องใช้บุคลากร ผลที่ได้คือมีอัตราการระบุเหตุการณ์ที่เป็นภัยต่อท่อส่งสูงถึง 97% คุณสวี่ เสี่ยวเหลียง ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการใยแก้วนำแสงของบริษัท ซานตง จี่หัว ก๊าซ (Shandong Jihua Gas) กล่าวว่า "เราได้ทำการทดสอบเชิงเทคนิคภาคสนามโดยใช้ผลิตภัณฑ์ตรวจจับออปติคอลของหัวเว่ย และพบว่ามีความแม่นยำในการรายงานผลสูงกว่าของอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อสานต่อความร่วมมือนี้ เราจะเดินหน้าเก็บข้อมูลและอัปเดตตัวอย่างจากสถานที่จริงเพื่อให้ครอบคลุมสภาพการณ์หลากหลายรูปแบบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตลอดจนศึกษาอัลกอริทึมการตรวจจับที่แม่นยำยิ่งขึ้น และให้การรับประกันเชิงเทคนิคที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นสำหรับการจัดการความปลอดภัยในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ"

มหกรรมโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส ประจำปี 2565 จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 3 มีนาคม ณ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน โดยหัวเว่ยได้ร่วมนำเสนอผลิตภัณฑ์และโซลูชันต่าง ๆ ที่บูธ 1H50 ในฟีรา กรัน เวีย ฮอลล์ 1 (Fira Gran Via Hall 1) สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://e.huawei.com/en/events/huawei-enterprise-mwc-2022

Source: Huawei
Keywords: Computer Networks Computer/Electronics Telecommunications Telecommunications Equipment New products/services Trade show news
Related News