บาร์เซโลนา, สเปน—7 มี.ค.—พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
ซาฟารีคอม, โคลส เดอะ แกป และหัวเว่ย คว้ารางวัลโกลโม ยกย่องบทบาทในการปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
ซาฟารีคอม (Safaricom), โคลส เดอะ แกป (Close the Gap) และหัวเว่ย (Huawei) คว้ารางวัลโกลบอล โมบายล์ อวอร์ด หรือรางวัลโกลโม ที่มหกรรมโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส ประจำปี 2565 หรือ MWC22 ที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ซึ่งยกย่องบทบาทของโครงการเทคฟอร์ออล ดิจิทรัค (TECH4ALL DigiTruck) ในการปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
โครงการดิจิทรัคเป็นความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการสัญชาติเคนยาอย่างซาฟารีคอม, กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของเคนยา, โครงการคอมพิวเตอร์ ฟอร์ สคูล เคนยา, สมาคมจีเอสเอ็ม และองค์กรเอ็นจีโอระดับโลกอย่างโคลส เดอะ แกป โดยเป็นโครงการส่งเสริมการศึกษาในเครือเทคฟอร์เอดูเคชัน (Tech4Education) ซึ่งอยู่ในโครงการส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษาของหัวเว่ยอย่างเทคฟอร์ออล โครงการเทคฟอร์ออลนี้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้แน่ใจว่าไม่มีใครถูกทอดทิ้งไว้ด้านหลังในโลกดิจิทัล ด้วยการพัฒนาทักษะ การใช้งาน และเทคโนโลยีในแวดวงการศึกษา สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการพัฒนา
โครงการดิจิทรัคเปิดตัวขึ้นเมื่อปี 2562 เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางดิจิทัลในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชนบทในเคนยา ดิจิทรัคดัดแปลงมาจากตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ในการขนส่ง เพื่อให้เป็นห้องเรียนเคลื่อนที่เพื่อฝึกอบรมทักษะทางดิจิทัลให้บุคคลและชุมชนต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นที่สุด ดิจิทรัครองรับสถานีงาน 20 จุด และมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโซลูชันสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านคลื่นไร้สายของหัวเว่ย ทั้งหมดนี้ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เพื่อให้ชุมชนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ได้ประโยชน์ด้วย
นับตั้งแต่ที่เปิดตัว นักเรียนกว่า 2,300 คนได้รับการฝึกอบรมรวมกันแล้วกว่า 80,000 ชั่วโมงใน 19 เขตทั่วประเทศเคนยา คอร์สเรียนระยะเวลา 40 ชั่วโมงแต่ละคอร์สนั้นครอบคลุมทักษะรู้ดิจิทัลพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้สมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต อีเมล และซอฟต์แวร์สำนักงาน ทั้งยังให้คำแนะนำในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงซอฟต์สกิลที่จำเป็นต่าง ๆ เช่น การร่างเอกสารธุรกิจ หางานออนไลน์ และเริ่มทำธุรกิจออนไลน์
ปีเตอร์ นเด็กวา (Peter Ndegwa) ซีอีโอของซาฟารีคอม กล่าวว่า "เรามีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เราให้การเชื่อมต่อ โซลูชันล้ำสมัย และทักษะทางดิจิทัล ที่ช่วยให้ลูกค้าของเราเติบโตในโลกดิจิทัล การคว้ารางวัลครั้งนี้นับเป็นการยอมรับความพยายามของเรากับหัวเว่ยและพันธมิตรรายอื่น ๆ ในการเชื่อมต่อลูกค้าของเราในโลกดิจิทัล"
โครงการดังกล่าวมีส่วนสนับสนุนเป้าหมายที่ 4 เป็นอย่างมาก เพื่อสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต โครงการริเริ่มต่าง ๆ เช่นดิจิทรัค ช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย SDG ข้ออื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการยุติความยากจนและความเท่าเทียมทางเพศ นอกจากนี้ การยกระดับทักษะทางดิจิทัลยังมีความจำเป็นในการส่งเสริมแนวโน้มการจ้างงานของผู้หางาน และสนับสนุนชุมชนรายได้ต่ำด้วยโมเดลธุรกิจออนไลน์ ซึ่งเป็นทักษะที่ช่วยดันผู้คนให้ออกจากความยากจนได้ ในขณะที่โครงการส่วนใหญ่มีเป้าหมายเพื่อรักษาอัตราส่วนความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง โครงการนี้ยังมีหลักสูตรสำหรับเด็กสาวและผู้หญิงโดยเฉพาะด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขาดทักษะทางดิจิทัลมากกว่า โดยในปี 2564 ดิจิทรัคได้ร่วมมือกับวีเมน อิน เทคโนโลยี หัวเว่ย (Women in Technology Huawei) จนมีโอกาสฝึกอบรมผู้หญิงรวม 55 รายในเขตห่างไกลที่มีชื่อว่าการ์บาตูลลา
สำหรับผู้รับการฝึกอบรมหลายรายแล้ว การฝึกอบรมนับเป็นการเปิดประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเปิดโอกาสในการปลดล็อกโอกาสต่าง ๆ ที่แต่ก่อนอาจไม่เคยรับรู้มาก่อนหรือดูไกลตัวเกินไป
"โครงการดิจิทรัคที่โคลส เดอะ แกป ได้พัฒนาขึ้นร่วมกับหัวเว่ย กำลังก้าวไกลขึ้นเรื่อย ๆ ในการเปลี่ยนปัญหาท้าทายเป็นโอกาส" โอลิวิเยร์ วานเดน (Olivier Vanden) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของโคลส เดอะ แกป กล่าว "เราเปลี่ยนพื้นที่ห่างไกลให้เป็นดิจิทัลเต็มตัวได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคและการพึ่งพาตนเองให้กับเยาวชนและมอบพลังให้ชุมชนต่าง ๆ"
นอกเหนือจากเคนยาแล้ว ยังมีการนำโครงการดิจิทรัคไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกด้วย เพื่อปรับปรุงทักษะทางดิจิทัลและลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล
หัวเว่ยคว้ารางวัลโกลโม สาขาผู้มีบทบาทโดดเด่นในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติมาเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้ว โดยเมื่อปี 2564 เรนฟอเรสต์ คอนเนกชัน (Rainforest Connection) และหัวเว่ย ได้คว้ารางวัลดังกล่าวจากผลงานในโปรเจกต์เทคฟอร์ออล เนเจอร์ การ์เดียน (TECH4ALL Nature Guardian) ซึ่งใช้เทคโนโลยีอะคูสติกแบบเครือข่ายในการปกป้องสัตว์ใกล้สูญพันธุ์และระบบนิเวศจากภัยคุกคามต่าง ๆ เช่น การทำไม้ผิดกฎหมายและลักลอบล่าสัตว์
ทั้งนี้ รางวัลโกลโมจัดโดยสมาคมจีเอสเอ็ม เพื่อยกย่องบทบาทโดดเด่นที่เป็นนวัตกรรมใหม่ขององค์กรต่าง ๆ ที่เข้ามาพลิกโฉมการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้คน ชุมชน และธุรกิจ และก้าวหน้าในโลกแบบดิจิทัลเฟิร์สต์ โดยแจกรางวัลโกลโมทุกปีที่มหกรรมโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส
มหกรรมโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส ประจำปี 2565 จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 3 มีนาคม ณ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน โดยหัวเว่ยได้ร่วมนำเสนอผลิตภัณฑ์และโซลูชันต่าง ๆ ที่บูธ 1H50 ในฟีรา กรัน เวีย ฮอลล์ 1 (Fira Gran Via Hall 1) ทั้งนี้ ด้วยการร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่าย ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม และผู้นำทางความคิดจากทั่วโลก เราได้เจาะลึกประเด็นต่าง ๆ เช่น แนวโน้มของอุตสาหกรรม แบบจำลอง GUIDE เพื่อนำทางสู่อนาคต และการพัฒนาสีเขียว เพื่อวาดภาพเครือข่ายดิจิทัลแห่งอนาคต สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://carrier.huawei.com/en/events/mwc2022