ปักกิ่ง--1 เม.ย. 2565--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
จีนเร่งระดมปลูกป่าทั่วประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามในการทำตามคำมั่นที่ให้ไว้ว่าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนถึงจุดสูงสุดภายในปี 2573 ก่อนที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2603
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (30 มี.ค.) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโส ร่วมเป็นผู้นำในการปลูกป่าในระหว่างการเข้าร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ที่กรุงปักกิ่ง โดยปธน.สีกล่าวว่า ป่าไม้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ มีคุณูปการต่อเศรษฐกิจ เพิ่มผลผลิตด้านอาหาร และยังเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน หรือ คาร์บอนซิงค์ (Carbon sink)
ในฐานะเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ปธน.สียังได้เข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่าต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 นับตั้งแต่การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 (18th Communist Party of China (CPC) National Congress) ปี 2555
เพาะหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งการอนุรักษ์ระบบนิเวศ
จีนได้กำหนดให้วันที่ 12 มีนาคมของทุกปีเป็นวันปลูกต้นไม้แห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2522 โดยที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (National People's Congress หรือ NPC) หรือรัฐสภาจีน ได้เปิดตัวโครงการจิตอาสาปลูกต้นไม้ขึ้นทั่วประเทศในปี 2524 เพื่อเป็นการกระตุ้นให้พลเมืองทุกคนที่อายุตั้งแต่ 11 ปีขึ้นไปและมีความพร้อมเข้าร่วมโครงการปลูกต้นไม้ 5 ต้นเป็นประจำทุกปี
"ผมต้องการมีส่วนร่วมในโครงการ Beautiful China และหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งการอนุรักษ์ระบบนิเวศให้เติบโดสู่สังคม โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน" ปธน.สี กล่าวในช่วงจัดกิจกรรมของปีนี้ที่สวนสาธารณะกลางเมืองแห่งหนึ่ง ในย่านฮวงคุน ทาวน์ (Huangcun Town) เขตต้าซิง (Daxing) กรุงปักกิ่ง
ในระหว่างกิจกรรม ปธน.สีได้ปลูกกล้าไม้สนจีน รดน้ำต้นท้อ, แมกโนเลีย, แอปเปิลจิ๋ว และต้นแอชจีน
ปธน.สียังกล่าวว่า "จากความร่วมแรงร่วมใจเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เราจะสามารถทำให้ท้องฟ้ากลับมาใสขึ้น มีภูเขาที่เขียวชอุ่ม ผืนน้ำใสสะอาด และสิ่งแวดล้อมที่งดงามขึ้น"
นอกจากนี้ ปธน.สี จิ้นผิงยังกล่าวว่า ผืนป่าและทุ่งหญ้าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญขั้นพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์ต่อความมั่นคงทางระบบนิเวศของประเทศ โดยได้อธิบายถึงป่าไม้ว่าเป็นเสมือนแหล่งดูดซับคาร์บอน
พร้อมกันนี้ ประธานาธิบดีของจีนยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศและเดินหน้าไปสู่การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยใช้แนวทางแบบองค์รวม
"เราจะปกป้องและบริหารจัดการระบบนิเวศ ซึ่งประกอบด้วยภูเขา แม่น้ำ ป่าไม้ พื้นที่เกษตรกรรม ทะเลสาบ ทุ่งหญ้า และทะเลทราย ด้วยการใช้แนวทางแบบองค์รวม โดยจัดโครงการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและเพิ่มพื้นที่ป่าไม้และทุ่งหญ้าทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ"
ความสำคัญของป่าไม้ในการลดคาร์บอน
"ผืนน้ำใสและภูเขาเขียวขจีเป็นสินทรัพย์อันล้ำค่า" ความเห็นดังกล่าวของปธน.สีกลายเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ระบบนิเวศของจีน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนให้คำมั่นว่าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แตะจุดสูงสุดก่อนปี 2573 และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ก่อนถึงปี 2603 นอกจากนี้ ยังให้คำมั่นว่าจะผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในด้านการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2564-2568) และตามเป้าหมายระยะยาวจนถึงปี 2578 ซึ่งเป็นแผนพัฒนาประเทศฉบับล่าสุด
การปลูกป่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการเปลี่ยนความคิดเหล่านี้ให้กลายเป็นจริง เนื่องจากแหล่งดูดซับคาร์บอน เช่น ป่าไม้และทุ่งหญ้า จะช่วยดูดซับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศเอาไว้
ข้อมูลในเอกสารปกขาวด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของจีนที่เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคมปี 2564 ระบุว่า พื้นที่ป่าไม้และเขตป่าสงวนของจีนมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ จีนสามารถบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มทรัพยากรป่าไม้ได้มากที่สุด
รายงานจากเอกสารดังกล่าวยังระบุว่า ณ สิ้นปี 2563 จีนมีพื้นที่ป่าไม้อยู่ที่ 220 ล้านเฮกตาร์ โดยมีพื้นที่ป่าอยู่ราว 23% และกักเก็บคาร์บอนได้ 9.19 พันล้านตัน
สำนักงานบริหารป่าไม้และทุ่งหญ้าแห่งชาติจีนแถลงเมื่อวันที่ 11 มีนาคมว่า ในปี 2564 จีนปลูกป่าครอบคลุมพื้นที่ 3.6 ล้านเฮกตาร์ และแปลงพื้นที่เกษตรกรรม 380,800 เฮกตาร์ให้กลายเป็นผืนป่า โดยจีนวางแผนที่จะปลูกต้นไม้และทุ่งหญ้าให้ได้ 6.4 ล้านเฮกตาร์ในปีนี้
นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศจีน (China Development Bank: CDB) ยังได้อนุมัติเงินกู้ราว 1.141 แสนล้านหยวน (ราว 1.795 หมื่นล้านดอลลาร์) เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ทางระบบนิเวศที่สำคัญ อาทิ การจัดตั้งเขตป่าสงวนแห่งชาติและการปรับปรุงคุณภาพป่าไม้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดูดซับคาร์บอนในภาคป่าไม้
ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศจีนยังเป็นหนึ่งในธนาคารผู้กำหนดนโยบายหลักของประเทศ ซึ่งสนับสนุนการเพาะปลูกและดูแลผืนป่าครอบคลุมพื้นที่เกือบ 4 ล้านเฮกตาร์ โดยคาดว่าหลังจากปี 2573 จะดูดซับคาร์บอนได้ปีละ 72 ล้านตัน