- อีสต์ เวนเจอร์ส มีมูลค่าธุรกรรมรวมในตลาด (Gross Merchandise Value หรือ GMV) ต่อปีมากกว่า 8.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีเงินลงทุนสืบเนื่อง (Follow-on Funding) จำนวน 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตอกย้ำความเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการทำประโยชน์ให้กับสังคมมากขึ้น
- รายงานความยั่งยืนประจำปี 2565 ของอีสต์ เวนเจอร์ส แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของบริษัทและระบบนิเวศของบริษัท เพื่อมุ่งสู่อนาคตที่มีความยั่งยืน เท่าเทียมและทั่วถึง โดย 25% ของบริษัทที่เข้าไปลงทุนในขณะนี้มีผู้ก่อตั้งเป็นผู้หญิงอย่างน้อยหนึ่งคน และมีระบบนิเวศที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 16 ข้อขององค์การสหประชาชาติ
จาการ์ตา, อินโดนีเซีย--21 เมษายน 2565--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
อีสต์ เวนเจอร์ส (East Ventures) บริษัทผู้บุกเบิกและผู้นำด้านการร่วมลงทุนแบบไม่เจาะจงอุตสาหกรรมในอินโดนีเซีย เผยแพร่รายงานความยั่งยืนฉบับแรกในชื่อ อีสต์ เวนเจอร์ส - รายงานความยั่งยืนประจำปี 2565 (East Ventures - Sustainability Report 2022) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าอย่างมากของบริษัท รวมถึงการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของบริษัทและระบบนิเวศของบริษัท ในส่วนของกรอบการทำงานและแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน เท่าเทียมและทั่วถึงมากขึ้น
อีสต์ เวนเจอร์ส สั่งสมประสบการณ์ในฐานะนักลงทุนยาวนานกว่าทศวรรษ โดยทำงานร่วมกับผู้ประกอบการหลายร้อยรายที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทิศทางเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อสร้างสังคมโดยรวมที่ดีกว่าเดิม นอกจากนี้ บริษัทยังมีมูลค่าธุรกรรมรวมในตลาด (Gross Merchandise Value หรือ GMV) ต่อปีมากกว่า 8.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีเงินลงทุนสืบเนื่อง (Follow-on Funding) จำนวน 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตอกย้ำความเป็นผู้นำในการทำประโยชน์ให้กับสังคมมากขึ้น และสร้างความก้าวหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน
รายงานฉบับนี้ได้สรุปประสบการณ์อันครอบคลุมของอีสต์ เวนเจอร์ส และระบบนิเวศของบริษัท อีกทั้งยังเป็นคู่มือแนะนำแนวทางและสร้างความเข้าใจมากขึ้นให้แก่ทุกบริษัทที่กำลังเดินหน้าสู่ความยั่งยืน โดยความมุ่งมั่นอย่างไม่หยุดยั้งของอีสต์ เวนเจอร์ส ในการใช้แนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืน สะท้อนออกมาให้เห็นผ่านทางโครงการเชิงกลยุทธ์และความก้าวหน้ามากมาย อาทิ การเป็นบริษัทร่วมลงทุนรายแรกในอินโดนีเซียที่ลงนามในหลักปฏิบัติสำหรับการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบของสหประชาชาติ (UN PRI) รวมถึงการมีพนักงานผู้หญิงคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 52% และมีหุ้นส่วนด้านการลงทุนที่เป็นผู้หญิงคิดเป็นสัดส่วน 33% นอกจากนี้ ระบบนิเวศของอีสต์ เวนเจอร์ส ยังส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 16 ข้อของสหประชาชาติ และ 25% ของบริษัทที่อีสต์ เวนเจอร์สเข้าไปลงทุนในขณะนี้ มีผู้ก่อตั้งเป็นผู้หญิงอย่างน้อยหนึ่งคน
รายงานฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า อีสต์ เวนเจอร์ส ได้ประกาศจัดตั้งทีมผู้นำด้าน ESG (ESG Leadership Team) เพื่อบริหารการลงทุนอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ โดยโครงสร้างการบริหารที่เข้มแข็งนี้จะช่วยตอกย้ำความรับผิดชอบและกำกับดูแลการปฏิบัติตามแนวทาง ESG, นโยบายต่าง ๆ, กระบวนการด้านการลงทุน และมาตรฐานภายในองค์กร โดยอีสต์ เวนเจอร์ส ไม่เพียงให้ความสำคัญกับการปรับปรุงนโยบายภายในองค์กรเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมแนวทางดังกล่าวในบริษัทที่เข้าไปลงทุนและทั่วทั้งระบบนิเวศด้วย
รายงานยังได้นำเสนอกรอบการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investment Framework) ซึ่งให้คำแนะนำในการสร้างโอกาสครั้งสำคัญให้ได้มากที่สุด และบรรเทาความเสี่ยงด้าน ESG ในการทำธุรกรรมตลอดวงจรชีวิตการลงทุน โดยกลยุทธ์การลงทุนที่ยั่งยืนนี้ยึดมั่นในสองแนวทางหลักของอีสต์ เวนเจอร์ส นั่นคือ การทำความดีและหลีกเลี่ยงความชั่ว (Doing Good and Avoiding Harm) นอกจากนี้ รากฐานของกลยุทธ์การลงทุนที่ยั่งยืนของอีสต์ เวนเจอร์ส ยังสะท้อนผ่านถ้อยแถลงที่ทรงพลัง นั่นคือ "การช่วยให้บริษัทที่มีศักยภาพสูงสามารถขยายข้อเสนอในตลาดได้อย่างยั่งยืน เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมและทั่วถึงมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เจริญรุ่งเรือง"
"เรารู้สึกยินดีที่ได้เผยแพร่รายงานฉบับนี้ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน เท่าเทียมและทั่วถึงมากขึ้น เราเชื่อว่าการเชื่อมต่อทางดิจิทัลซ้อนทับกับความยั่งยืน โดยต่างก็เป็นรากฐานและกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ในตลาดต่าง ๆ นอกจากนี้ ความยั่งยืนยังเป็นแกนหลักของทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ และเราเชื่อว่ารายงานนี้จะมีประโยชน์และเป็นแนวทางที่นำไปปฏิบัติได้จริงในการทำงานประจำวันสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง" คุณอวีนา ซูกีอาร์โต (Avina Sugiarto) หุ้นส่วนร่วมลงทุนของอีสต์ เวนเจอร์ส กล่าว
อีสต์ เวนเจอร์ส เชื่อว่ามีผลลัพธ์สำคัญสามประการที่สามารถบรรลุได้ด้วยการลงทุน โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งในการเร่งให้เกิดความก้าวหน้า โดยผลลัพธ์ดังกล่าวประกอบด้วยการเข้าถึงบริการทางการเงิน การศึกษาและการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้น และสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนและน่าอยู่ ดังนั้น อีสต์ เวนเจอร์ส จึงมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์และสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ในภาคส่วนดังกล่าว อาทิ การริเริ่มโครงการ Indonesia PASTI BISA (IDPB) ซึ่งมีเป้าหมายในการก้าวข้ามวิกฤตสุขภาพ, การจัดทำดัชนี East Ventures - Digital Competitiveness Index (EV-DCI) เพื่อผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และการจัดการประชุม Women with Impact Forum เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมและทั่วถึงมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น อีสต์ เวนเจอร์ส ยังเชื่อว่าการเดินหน้าใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การดำเนินโครงการต่าง ๆ และการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร คือสิ่งที่จำเป็นต่อการส่งเสริมอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน
"อีสต์ เวนเจอร์ส รับประกันว่าจะริเริ่มและสร้างความร่วมมือในโครงการที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีทั้งโครงการเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและการลงทุนเพื่อประโยชน์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม" คุณอวีนา กล่าว
ดาวน์โหลดรายงานความยั่งยืนประจำปี 2565 ฉบับเต็มได้ที่ www.east.vc/sustainability-report
เกี่ยวกับอีสต์ เวนเจอร์ส
อีสต์ เวนเจอร์ส คือบริษัทผู้บุกเบิกและผู้นำด้านการร่วมลงทุนแบบไม่เจาะจงอุตสาหกรรมซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ บริษัทก่อตั้งขึ้นในปี 2552 และได้พลิกโฉมเป็นแพลตฟอร์มแบบองค์รวมที่จัดหาเงินลงทุนในหลายระยะ รวมถึงระยะเริ่มต้น (Seed) และระยะเติบโต (Growth) ให้แก่บริษัทกว่า 200 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อีสต์ เวนเจอร์ส เชื่อมั่นในระบบนิเวศสตาร์ทอัพในอินโดนีเซียตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเป็นนักลงทุนรายแรกของบริษัทยูนิคอร์นในอินโดนีเซีย ได้แก่ โทโกพีเดีย (Tokopedia) และทราเวลโลก้า (Traveloka) นอกจากนั้นยังมีบริษัทที่มีชื่อเสียงอีกหลายแห่งที่อีสต์ เวนเจอร์สได้ร่วมลงทุนด้วย ได้แก่ รวงกูรู (Ruangguru), เซอร์โกล (SIRCLO), คูโด้ (Kudo) (ถูกแกร็บซื้อกิจการ), โลเค็ต (Loket) (ถูกโกเจ็กซื้อกิจการ), เทค อิน เอเชีย (Tech in Asia), เซ็นดิต (Xendit), ไอดีเอ็น มีเดีย (IDN Media), โมกาพีโอเอส (MokaPOS) (ถูกโกเจ็กซื้อกิจการ), ช็อปแบ็ก (ShopBack), โคอินเวิร์กส์ (KoinWorks), แวร์ซิกซ์ (Waresix) และโซซิโอลลา (Sociolla)
อีสต์ เวนเจอร์ส ได้รับการยกย่องให้เป็นกองทุนร่วมลงทุนที่มีผลการดำเนินงานดีเด่นที่สุดในโลกโดยพรีกิน (Preqin) ขณะที่สื่อหลายรายก็ยกให้เป็นนักลงทุนที่มีความกระตือรือร้นมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินโดนีเซีย ยิ่งไปกว่านั้น อีสต์ เวนเจอร์ส ยังเป็นบริษัทร่วมลงทุนรายแรกในอินโดนีเซียที่ลงนามในหลักปฏิบัติสำหรับการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบของสหประชาชาติ (UN PRI) ทั้งนี้ อีสต์ เวนเจอร์ส มีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และสร้างพลังบวกสู่สังคมผ่านโครงการต่าง ๆ และแนวทางปฏิบัติด้าน ESG ของบริษัท