omniture

"ดอมเป้" ประกาศผลการวิจัยเฟส 2 จากการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาเรพาริซินกับผู้ป่วยที่ปอดอักเสบรุนแรงจากโรคโควิด-19

Dompé Farmaceutici S.p.A
2022-06-13 22:39 193
  • ในกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาอาการปอดอักเสบจากโรคโควิด-19 ที่โรงพยาบาล อัตราการเกิดเหตุการณ์ทางคลินิกในกลุ่มที่ได้ยาเรพาริซิน (n=36) ต่ำกว่ากลุ่มที่รักษาตามมาตรฐาน (n=19) อย่างมีนัยสำคัญ
  • การศึกษาวิจัยดังกล่าวเป็นครั้งแรกที่ประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาเรพาริซิน ซึ่งเป็นยายับยั้ง IL-8 ในผู้ป่วยที่ปอดอักเสบรุนแรงจากโรคโควิด-19
  • ผลการทดลองเฟส 2 นี้ได้รับการนำเสนอที่การประชุมสมาคมทรวงอกอเมริกัน ประจำปี 2565 และเผยแพร่ในวารสารอินเฟกเชียส ดิซีสเซส แอนด์ เทอราปี

มิลาน, 13 มิถุนายน 2565 /PRNewswire/ -- ดอมเป้ ฟาร์มาซูติซี (Dompé farmaceutici S.p.A) หรือ "ดอมเป้" ประกาศผลการทดลองทางคลินิกเฟส 2 ของบริษัท ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในกลุ่มผู้ป่วยที่ปอดอักเสบรุนแรงจากโรคโควิด-19 ยาเรพาริซิน (Reparixin) ให้ผลลัพธ์ทางคลินิกที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับการดูแลรักษาตามมาตรฐาน และจำเป็นต้องวิจัยต่อเนื่องในเฟส 3 โดยมีผู้เข้าร่วมการทดลองมากขึ้นเพื่อยืนยันผลลัพธ์เหล่านี้ ผลลัพธ์จากการทดลองเฟส 2 ได้รับการเผยแพร่แล้วในวารสารอินเฟกเชียส ดิซีสเซส แอนด์ เทอราปี (Infectious Diseases and Therapy) และได้นำเสนอไว้ในเซสชันวิทยาศาสตร์ของการประชุมสมาคมทรวงอกอเมริกัน (ATS) ประจำปี 2565 ที่ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย

In its GMP facility in L’Aquila, Dompé manufactures more than 60 thousand packages per year distributed globally
In its GMP facility in L’Aquila, Dompé manufactures more than 60 thousand packages per year distributed globally

ภาวะปอดบาดเจ็บเฉียบพลันและภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (ARDS) เป็นอาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยครั้งในผู้ป่วยโรคโควิด-19[1] ดอมเป้มีความมุ่งมั่นในการลงทุนวิจัยเพื่อตอบรับกับความต้องการทางการแพทย์ที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองนี้ จึงได้จัดการวิจัยแบบเปิดที่ดำเนินการหลายศูนย์ เพื่อประเมินประสิทธิภาพในการยับยั้ง IL-8 ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอาการจากการหลั่งไซโตไคน์ที่สัมพันธ์กับโรคโควิด-19

"เรพาริซินเป็นโมเลกุลใหม่ที่อยู่ระหว่างการวิจัย ซึ่งดูเหมือนจะนำไปใช้รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันเพราะโควิด-19 ได้ โดยทนต่อผลข้างเคียงได้ดีในการทดลองทางคลินิก" นายแพทย์จิโอวานนา ลันโดนี (Giovanni Landoni) ผู้อำนวยการศูนย์รักษาพยาบาลผู้ป่วยหนักและวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลซาน ราฟฟาเอเล ในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี กล่าว "ผลลัพธ์เมื่อเทียบกับการดูแลรักษาตามมาตรฐานนั้นอาจลดลงเมื่อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็บ่งชี้ว่า การศึกษาเรื่องนี้ต่อไปน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน"

ผู้ป่วย 55 รายถูกสุ่มแบบ 2:1 ให้รับประทานยาเรพาริซิน ซึ่งเป็นยายับยั้ง IL-8 ขนาด 1200 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ส่วนอีกกลุ่มได้รับการรักษาตามมาตรฐานเป็นเวลาสูงสุด 21 วัน ผลปรากฏว่าอัตราการเกิดเหตุการณ์ทางคลินิกในกลุ่มที่ได้ยาเรพาริซินนั้น ต่ำกว่ากลุ่มที่รักษาตามมาตรฐานอย่างมีนัยสำคัญ (27% เทียบกับ 42.1%, p=0.02) นอกจากนี้ การรักษาด้วยยาเรพาริซินยังทนต่อผลข้างเคียงได้ดี ในแง่ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการ และสัญญาณชีพ[2] อันเป็นผลจากการรักษา

"ดอมเป้ และทั้งแวดวงชีวเภสัชภัณฑ์ ได้ทำงานอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 และโรคแทรกซ้อน" ฟลาวิโอ มันเทลลี (Flavio Mantelli) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการแพทย์ของดอมเป้ กล่าว "แม้วัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรค แต่ตัวเลือกการรักษาในโรงพยาบาลสำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงที่สุดนั้นยังมีจำกัด เราจึงขอทุ่มเทให้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ และหวังที่จะเดินหน้าโครงการพัฒนาทางคลินิกของเราต่อไป เพื่อประเมินศักยภาพในการลดอาการแทรกซ้อนทางระบบหายใจจากโรคโควิด-19"

เกี่ยวกับการวิจัย[3]

การวิจัยดังกล่าวเป็นการทดลองเฟส 2 แบบเปิด ดำเนินการหลายศูนย์ และสุ่มกลุ่มตัวอย่าง เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาเรพาริซินชนิดรับประทาน ในผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ที่เข้ารับการรักษาอาการปอดอักเสบรุนแรงจากโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาล ระหว่างวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 จนถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 และเผยแพร่ผลการทดลองเป็นครั้งแรกในวันนี้ การทดลองดังกล่าวมีอาสาสมัครวัยผู้ใหญ่รวม 55 ราย (อายุ 18–90 ปี) ที่เข้ารับการรักษาอาการปอดอักเสบรุนแรงจากโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาล โดยสุ่มอาสาสมัครแบบ 2:1 ให้อยู่ในกลุ่มที่รับประทานยาเรพาริซินขนาด 1200 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ส่วนอีกกลุ่มได้รับการรักษาตามมาตรฐาน (SOC) เป็นเวลาสูงสุด 21 วัน ผลการทดลองพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการรักษาอย่างน้อย 1 ครั้งในผู้ป่วย 3 รายในกลุ่มที่ใช้ยาเรพาริซิน และพบในผู้ป่วย 5 รายในกลุ่มที่ได้รับการรักษาตามมาตรฐาน เท่ากับว่ายาเรพาริซินดูเหมือนจะทนต่อผลข้างเคียงได้ดี

ผู้ป่วยทุกรายได้รับการดูแลตามมาตรฐานเมื่อประเมินจากความต้องการของแต่ละคน รวมถึงยารักษาโรคโควิด-19 ตามแนวปฏิบัติในการรักษาของโรงพยาบาลที่เป็นสถานที่วิจัยและตามแนวปฏิบัติระดับสากล

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทดลองนี้ได้ที่ NCT04794803

เกี่ยวกับดอมเป้

ดอมเป้ (Dompé) เป็นบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์เอกชนซึ่งก่อตั้งที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี โดยได้วิจัย พัฒนา และคิดค้นนวัตกรรมทางการแพทย์มาเป็นเวลาถึง 130 ปี ปัจจุบัน ดอมเป้ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเมืองมิลาน มีพนักงานกว่า 800 คนทั่วโลก ทั้งยังมีศูนย์ปฏิบัติการทางการค้าในแถบซานฟรานซิสโกของสหรัฐอีกด้วย

ข้อความคาดการณ์ล่วงหน้า

ข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับนี้มีข้อความบางส่วนที่อาจไม่เป็นไปตามผลลัพธ์ในอนาคตที่คาดหวังไว้ ดอมเป้เชื่อในความถูกต้องและความสมเหตุสมผลของแนวคิดที่ระบุไว้ อย่างไรก็ดี ข้อความบางส่วนขึ้นอยู่กับความไม่แน่ชัดในระดับหนึ่งเกี่ยวกับกิจกรรมการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการตรวจสอบยืนยันที่จำเป็นจากหน่วยงานกำกับดูแล ด้วยเหตุนี้ ดอมเป้จึงรับประกันไม่ได้ว่าผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้นี้จะสอดคล้องกับข้อมูลที่ระบุไว้ข้างต้น

อ้างอิง

1. Tzotzos SJ, et al. Crit Care. 2020 Aug 21;24(1).

2. การทดลองเฟส 2 แบบสุ่ม ดำเนินการหลายศูนย์ และมีกลุ่มควบคุม เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาเรพาริซิน ในผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ที่เข้ารับการรักษาอาการปอดอักเสบจากโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาล การประชุมสมาคมทรวงอกอเมริกัน ประจำปี 2565 ที่ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย

3. https://www.springer.com/journal/40121

รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1837356/Dompe_Farmaceutici.jpg
โลโก้ - https://mma.prnasia.com/media2/1837355/Dompe_Farmaceutici_Logo.jpg?p=medium600

Source: Dompé Farmaceutici S.p.A
Keywords: Biotechnology Health Care/Hospital Infectious Disease Control Medical/Pharmaceuticals Pharmaceuticals Clinical Trials/Medical Discoveries