ปักกิ่ง—15 ส.ค.—พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
ผลสำรวจความคิดเห็นจากซีจีทีเอ็น ธิงค์ แทงค์ (CGTN Think Tank) และสถาบันสำรวจมติมหาชนจีน (Chinese Institute of Public Opinion) ประจำมหาวิทยาลัยเหรินหมินของจีน พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 78% ทั่วโลกเชื่อว่า เศรษฐกิจจีนได้อัดฉีดกำลังให้กับเศรษฐกิจโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และได้กลายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกไปแล้ว
การสำรวจดังกล่าวได้สอบถามความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสำรวจซึ่งมีอายุเฉลี่ย 38.64 ปีจากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ไปจนถึงประเทศกำลังพัฒนาอย่างบราซิล อาร์เจนตินา เม็กซิโก ไทย อินเดีย ปากีสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ ไนจีเรีย เคนยา และแอฟริกาใต้ ผู้ตอบแบบสอบถามกว่าครึ่งหนึ่งสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดย 54.71% มีวุฒิปริญญาตรีหรือสูงกว่า และในจำนวนนี้ 15.22% มีวุฒิปริญญาโทและเอก
ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 91.46% จากแอฟริกาต่างชมเชยความสำเร็จทางเศรษฐกิจของจีน ตามมาด้วยยุโรปในสัดส่วน 81.6% ขณะที่อเมริกาเหนืออยู่อันดับสามที่ 78.09%
ผู้ตอบแบบสำรวจจากประเทศในกลุ่มข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ต่างชื่นชมความสำเร็จทางเศรษฐกิจของจีน ในขณะเดียวกัน ผู้ตอบแบบสำรวจ 84.02% จากประเทศกำลังพัฒนา มีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจจีนมากกว่าผู้ตอบแบบสำรวจจากประเทศพัฒนาแล้ว
ความทุ่มเทบังเกิดผล
ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มองชาวจีนในมุมมองบวก โดยผู้ตอบแบบสำรวจชาวแอฟริกัน 84.42% และผู้ตอบแบบสำรวจชาวยุโรป 71.18% เชื่อว่าชาวจีนทำงานหนักและมีแรงผลักดัน
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต่อหัวของจีนได้เพิ่มจาก 6,100 ดอลลาร์ จนทะลุหลัก 12,000 ดอลลาร์ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 76.65% เชื่อว่าเป็นผลงานที่โดดเด่นมาก โดยในการสำรวจนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 70% จาก 5 ทวีปเชื่อว่าจีนร่ำรวยขึ้น
จีนประสบความสำเร็จในการช่วยให้คนในพื้นที่ชนบทเกือบ 100 ล้านคนพ้นจากความยากจนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ทั่วโลกเชื่อว่า 2 สาเหตุหลักของความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นี้ เป็นเพราะเศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตสดใสต่อเนื่อง และผู้นำจีนมีความมุ่งมั่นและไม่หยุดเดินตามเป้าหมาย
ในแง่ของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้น ผู้ตอบแบบสำรวจรู้สึกประทับใจกับความก้าวหน้าในเทคโนโลยี 5G ปัญญาประดิษฐ์ และทางรถไฟความเร็วสูงของจีนมากที่สุด โดยในแอฟริกานั้น ผู้ตอบแบบสำรวจ 73.87% ประทับใจกับ 5G ของจีนมากที่สุด และ 55.28% ชื่นชมทางรถไฟความเร็วสูงของจีน ส่วนในยุโรป ผู้ตอบแบบสำรวจ 52.77% ประทับใจกับความก้าวหน้าในปัญญาประดิษฐ์ของจีน
โลกหลายขั้ว
ผลสำรวจดังกล่าวยังได้สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับระเบียบโลกในอนาคต โดยประมาณ 6% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลกเชื่อว่า ในอนาคตโลกจะมีอยู่ขั้วเดียว ถ้าไม่ขั้วสหรัฐก็ขั้วจีน ขณะที่คนส่วนใหญ่ หรือ 34% เชื่อว่า โลกน่าจะมีหลายขั้ว
แนวคิดของจีนอย่าง "ชุมชนที่ใช้อนาคตร่วมกัน" ซึ่งสะท้อนถึงพลโลกอันเป็นหนึ่งเดียวและแสวงหาหนทางใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้านั้น ได้รับการสนับสนุนจากผู้ตอบแบบสำรวจ 61%
ผู้ตอบแบบสำรวจจากประเทศกลุ่ม BRI มองโลกแบบเดียวกับจีนมากกว่า
สำหรับอิทธิพลที่โครงการ BRI มีต่อประเทศของตนนั้น "การแบ่งบันผลประโยชน์จากความก้าวหน้า" (53%) "การขยายตลาดโลก" (51%) "เสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐาน" (44%) และ "การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม" (43%) เป็นสิ่งที่ผู้ตอบแบบสำรวจตอบมากที่สุด
มีเพียง 8% ที่เชื่อว่า ประเทศของตนติด "กับดักหนี้" เพราะจีน
ผลสำรวจพบว่า คนส่วนใหญ่ยอมรับแนวทางของจีนในการรับมือกับประเด็นสิทธิมนุษยชน
ผู้ตอบแบบสำรวจประมาณ 57% เห็นด้วยกับข้อความที่ว่า "จีนจัดการประเด็นสิทธิมนุษยชนตามข้อเท็จจริงและปฏิบัติได้จริงมาตลอด โดยไม่ควรแยกประเด็นสิทธิมนุษยชนออกจากความเป็นจริงและระยะการพัฒนาของประเทศใด สิทธิในการดำรงชีพและพัฒนาเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สุด" ซึ่ง 26% เห็นด้วยอย่างยิ่ง