กรุงเทพฯ—20 ก.ย.—พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
หัวเว่ย (Huawei) ร่วมกับมูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเชีย แปซิฟิก ดิจิทัล ทาเลนต์ ซัมมิต (Asia Pacific Digital Talent Summit) ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันจันทร์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของงานใหญ่ประจำปีอย่างหัวเว่ย คอนเนกต์ (Huawei Connect)
การประชุมสุดยอดในหัวข้อ "Cultivate Talents, Unleash Digital" (บ่มเพาะผู้มีความสามารถ ปลดปล่อยพลังดิจิทัล) ได้นำผู้มีส่วนร่วมจากภาครัฐ วิชาการ และอุตสาหกรรมมารวมตัวกัน เพื่อหาหนทางสร้างกลุ่มผู้มีความสามารถด้านไอซีทีที่พร้อมรับโลกอนาคต และปลดปล่อยศักยภาพดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นายเอกภาพ พันธะวงศ์ รองเลขาธิการอาเซียนฝ่ายประชาคมสังคมและวัฒนธรรม กล่าวเปิดงานว่า "การประชุมสุดยอดครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการหล่อหลอมให้เกิดการหารือและความพยายาม ในการบ่มเพาะผู้มีความสามารถด้านไอซีทีเชิงนวัตกรรมในภูมิภาค สำรวจสถานะปัจจุบัน จัดการอุปสรรคและความไม่เท่าเทียมทางดิจิทัล และกำหนดก้าวต่อไป"
ดร. หยาง หมี่ เอ็ง (Yang Mee Eng) ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน หวังว่า "การประชุมสุดยอดครั้งนี้จะนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วทั้งภูมิภาคมายกระดับฉันทามติ จัดการกับปัญหา และดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อลดช่องว่างทางดิจิทัล บ่มเพาะคนเก่งในเรื่องนวัตกรรม และปลดปล่อยการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลในภูมิภาค"
เจ้าหน้าที่ของรัฐในภูมิภาคดังกล่าวยังได้ร่วมแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการบ่มเพาะผู้มีความสามารถทางดิจิทัลด้วย โดยศาสตราจารย์นิซาม (Nizam) อธิบดีกรมอุดมศึกษา ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม การวิจัย และเทคโนโลยีของอินโดนีเซีย ชี้ว่า "ในอินโดนีเซีย เรากำลังเปลี่ยนระบบการศึกษาของเราให้มีความพร้อมทางดิจิทัล และพัฒนากลุ่มผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านความริเริ่มต่าง ๆ"
คุณโสก พุทธิวุฒิ (Sok Puthyvuth) รัฐมนตรีกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคมกัมพูชา กล่าวว่า "กัมพูชาได้เพิ่มวิชาดิจิทัลในหลักสูตรของโรงเรียน ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มออนไลน์ และจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีชุมชนสำหรับนักเรียน ขณะเดียวกันก็ได้ทำงานร่วมกับโรงเรียนอาชีวศึกษา ในการจัดการฝึกอบรมดิจิทัลสำหรับผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน"
ศาสตราจารย์กั๋ว อี่เค่อ (GUO Yike) รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแบ๊บติส ฮ่องกง (Hong Kong Baptist University) ได้แนะนำให้ผู้ร่วมประชุมรู้จักกับวงดนตรี AI วงแรกของโลกที่มีชื่อว่าทัวริง เอไอ ออร์เคสตรา (Turing AI Orchestra หรือ TAIO) และบอกว่า "TAIO จะส่งเสริมการศึกษาสหวิทยาการสู่คนรุ่นต่อไป" ขณะที่ศาสตราจารย์ฮิโตชิ ยามาดะ (Hitoshi Yamada) อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติโยโกฮาม่าในญี่ปุ่น ได้ให้ทรรศนะว่า การแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศเปลี่ยนการพัฒนาคนเก่งด้านดิจิทัลได้อย่างไรบ้าง
ด้านคุณไซมอน หลิน (Simon Lin) ประธานของหัวเว่ย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้อธิบายถึงกลยุทธ์บ่มเพาะความสามารถของหัวเว่ยในภูมิภาคนี้ว่า "เกือบทุกประเทศในเอเชียแปซิฟิกกำลังเสริมพลังให้ผู้มีความสามารถด้านไอซีที โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้นในฐานะบริษัทระดับโลกที่หยั่งรากลึกในตลาดท้องถิ่น หัวเว่ยจะคอยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศของผู้มีความสามารถ ผ่านความเป็นผู้นำ ทักษะ และความรู้"
หลังการแสดงสุนทรพจน์ก็ตามมาด้วยการอภิปรายเรื่องการผนวกรวมดิจิทัลและการฟื้นฟูหลังเกิดโรคระบาด โดยคุณมิเชล วัคเกอร์ (Michele Wucker) นักเขียนหนังสือขายดีระดับโลกอย่าง "The Grey Rhino" ได้เสนอแนวทางในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการกำหนดนโยบาย เพื่อสนับสนุนการรวมดิจิทัลเข้ามา ขณะที่คุณอิโอนา โดมินิค (Iona Dominique) หนึ่งในสมาชิกของทีมที่ชนะการประกวดเอแพค ซีดส์ ฟอร์ เดอะ ฟิวเจอร์ เทคฟอร์ออล (APAC Seeds for the Future Tech4All Competition) ยังได้แบ่งปันโครงการของเธอในการใช้คลาวด์และ AI ช่วยเหลือผู้หางานที่ทุพพลภาพให้ได้งาน
ศาสตราจารย์กั๋ว ซ่ง (Guo Song) จากมหาวิทยาลัยโปลีเทคนิคฮ่องกง (Hong Kong Polythecnic University) กล่าวว่า "การดำเนินการร่วมกันระหว่างภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และรัฐบาล จะนำไปสู่การผนวกรวมดิจิทัลในยุคนี้"