ปักกิ่ง--20 ตุลาคม 2565--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้อุทิศส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ระยะยาวโดยมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาผู้มีความสามารถ
ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีชื่อว่า "เสริมสร้างชาติจีนด้วยวิทยาศาสตร์และการศึกษา" ซึ่งประกาศครั้งแรกในปี 2538 และได้รับการเพิ่มเติมด้วยข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ ที่มีอยู่ในนโยบายต่าง ๆ ที่มีการประกาศใช้ตั้งแต่นั้นมา
"การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ เป็นเสาหลักและยุทธศาสตร์สำหรับการสร้างประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่ในทุกด้าน" ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าว
พลังแห่งนวัตกรรม
จีนได้ทุ่มเทความพยายามอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และมีตัวอย่างที่ชัดเจนมากมายเกี่ยวกับพลังแห่งนวัตกรรมของประเทศในช่วงเวลานั้น เช่น ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ระดับโลก สถานีอวกาศที่สร้างขึ้นในประเทศ และเรือดำน้ำแบบมีมนุษย์ควบคุมเฟิ่นโต้วเจ่อ (Fendouzhe) ซึ่งมีความหมายว่าผู้ไม่ย่อท้อ (Striver) ที่สร้างสถิติระดับชาติในการดำไปถึงส่วนที่ลึกที่สุดของมหาสมุทร
นายหลี่ เหมิง (Li Meng) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนก้าวหน้ายิ่งกว่าทุกทศวรรษในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ การใช้จ่ายประจำปีในด้านการวิจัยและพัฒนาในปัจจุบันยังสูงกว่าเมื่อปี 2555 ถึง 2.7 เท่า
องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ระบุเมื่อเดือนที่แล้วว่า จีนไต่ขึ้นมาอยู่อันดับ 11 ในดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) ประจำปี 2565 จากอันดับ 12 ในปีที่แล้ว
"เราจะเปิดพื้นที่และเวทีใหม่ในการพัฒนา พร้อมทั้งส่งเสริมกลไกขับเคลื่อนการเติบโตใหม่และจุดแข็งใหม่อย่างต่อเนื่อง" นายสี จิ้นผิง กล่าว
การศึกษาที่ดีขึ้น
นวัตกรรมเป็นผลมาจากบุคคลที่มีการศึกษาดี เพื่อพัฒนาการศึกษาที่ตรงตามความคาดหวังของประชาชน นายสี จิ้นผิง กล่าวว่า จีนจะ "เดินหน้าให้เร็วขึ้นเพื่อสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูง พัฒนานักเรียนให้รอบด้าน และส่งเสริมการศึกษาที่เท่าเทียม"
"ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย สิ่งสำคัญที่สุดคือการพัฒนาคนเก่ง เพราะในความเป็นจริงแล้ว องค์ประกอบหลักของนวัตกรรมก็คือคนเก่ง" นายเซี่ย หมิงหยง (Xie MingYong) นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Engineering) และผู้แทนที่ได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ เปิดเผยกับสถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็น (CGTN)
กระทรวงศึกษาธิการระบุว่า การศึกษาในทุกระดับชั้นของจีน อยู่ในระดับใกล้เคียงหรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง-สูง โดยการศึกษาภาคบังคับแตะระดับกลางของประเทศที่มีรายได้สูง
ในปี 2564 จีนมีครูที่ทำงานเต็มเวลา 18.44 ล้านคนในทุกระดับชั้นและในโรงเรียนทุกประเภททั่วประเทศ เพิ่มขึ้น 26.2% จากปี 2555