ปักกิ่ง, 22 พ.ย. 2565 /พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
เศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาอย่างใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ได้กลายเป็นเทรนด์หลักในการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้เรียกร้องให้สมาชิกเอเปค (APEC) ทั้งหมดยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและทางเทคนิค เร่งการพัฒนาดิจิทัลที่สอดประสานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ด้วยจำนวนประชากรรวมกัน 2.9 พันล้านคน กลุ่มเศรษฐกิจเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ มีสัดส่วนมากกว่า 60% ของ GDP โลก และมีปริมาณการค้าประมาณครึ่งหนึ่งของการค้าทั้งหมด สถานะของภูมิภาคนี้จึงมีความสำคัญระดับโลก ดังนั้นการบรรลุผลในด้านการพัฒนาดิจิทัลที่สอดประสานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจดิจิทัลกับเศรษฐกิจสีเขียว
การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นพึ่งพาอาศัยและส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยคุณหวัง ซ่ง (Wang Song) เจ้าหน้าที่ของสำนักงานบริหารไซเบอร์สเปซแห่งประเทศจีน กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน
คุณหวังกล่าวขณะแนะนำรายงานสมุดปกขาวหัวข้อ "ร่วมสร้างชุมชนที่มีอนาคตร่วมกันในไซเบอร์สเปซ" (Jointly Build a Community with a Shared Future in Cyberspace) ซึ่งออกโดยสำนักงานข้อมูลสภาแห่งรัฐของจีน เอกสารดังกล่าวเรียกร้องให้เกิด "ความพยายามร่วมกันในการประสานการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม"
เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว โดยคุณหวังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ภายในปี 2573 อุตสาหกรรมในจีนจะลดการปล่อยคาร์บอนลงได้ 1.21 หมื่นล้านตัน จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล
จีนและสมาชิกเอเปคชาติอื่น ๆ ร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล
จีนกำหนดให้การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ
ขนาดของเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนอยู่อันดับสองของโลกมานานหลายปี ตามรายงานของสภาแห่งรัฐในรายงานที่ส่งไปให้คณะกรรมการประจำสภาประชาชนแห่งชาติทบทวนในวันที่ 28 พฤศจิกายน
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างจีนกับเขตเศรษฐกิจเอเปคอื่น ๆ ก็มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง
การลงนามในข้อตกลงระหว่างอาลีบาบา กรุ๊ป (Alibaba Group) ของจีน กับรัฐบาลไทย เมื่อเดือนเมษายน 2561 ที่กรุงเทพฯ ทำให้เกิดความร่วมมือทั้งสองฝ่ายในด้านอีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ดิจิทัล การท่องเที่ยว และการฝึกอบรมบุคลากร
ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์จีน ระบุว่า ในเดือนพฤษภาคม 2565 บริษัทฯ ได้เปิดตัวศูนย์ข้อมูลในประเทศไทย เพื่อเสริมศักยภาพด้านนวัตกรรมดิจิทัลของธุรกิจในท้องถิ่น
ฟิลิปปินส์และออสเตรเลียก็ร่วมมือกับอาลีบาบาในด้านค้าปลีกและโลจิสติกส์ การเงินและฟินเทค ความบันเทิงดิจิทัล และบริการองค์กรสาธารณะเช่นกัน
ความร่วมมือในด้านการชำระเงินแบบดิจิทัลก็แข็งแกร่งขึ้นด้วย โดยไชนา ยูนิคอม (China Unicom) เปิดเผยในเดือนพฤศจิกายนว่า นับตั้งแต่ต้นปีมีการออกบัตรยูเนี่ยนเพย์ (UnionPay) มากกว่า 6 ล้านใบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบเป็นรายปี
จนถึงขณะนี้ มีการออกบัตรยูเนี่ยนเพย์แล้วกว่า 40 ล้านใบใน 10 ประเทศอาเซียน โดย 7 ประเทศเป็นสมาชิกเอเปค
การพัฒนาสีเขียวของจีน
การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวิธีการที่ปฏิบัติได้จริงและยืดหยุ่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจโลก
การประชุมสภาแห่งชาติครั้งที่ 20 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เรียกร้องให้จีนเร่งเปลี่ยนผ่านสู่รูปแบบการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียวและคาร์บอนต่ำ พร้อมส่งเสริมแนวทางการผลิตและการดำรงชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ
จีนมีเป้าหมายที่จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ถึงระดับสูงสุดก่อนปี 2573 และบรรลุเป้าหมายปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ก่อนปี 2603
คุณจ้าว อิงหมิ่น (Zhao Yingmin) หัวหน้าคณะผู้แทนจีนในการประชุมสมัชชาภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ เปิดเผยว่า ตลาดคาร์บอนแห่งชาติของจีนครอบคลุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 4.5 พันล้านตัน ทำให้เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกหลังจากดำเนินการมาหนึ่งปี
ด้านบีวายดี (BYD) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดรายใหญ่ที่สุดของจีน ลงนามข้อตกลงกับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมของไทยอย่างดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป เมื่อเดือนกันยายน เพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แห่งใหม่ในประเทศไทย โดยมีกำลังการผลิตตามแผนปีละ 150,000 คัน
รายงานประจำเดือนกุมภาพันธ์ของสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของจีน ระบุว่า ในปีนี้ประเทศไทยได้ออกนโยบายส่งเสริมการลงทุนรอบใหม่ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ด้วยเป้าหมายที่จะขยายตลาด EV โดยหวังที่จะให้การผลิตยานยนต์ทั้งหมดในประเทศเป็นยานยนต์ไฟฟ้า 30%
คุณจรีพร จารุกรสกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการกลุ่มบริษัทดับบลิวเอชเอ เปิดเผยว่า การเข้ามายังประเทศไทยของบีวายดีจะช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์เข้าใกล้เป้าหมายดังกล่าวมากขึ้น ตลอดจนช่วยให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลก
ขณะเดียวกัน คุณลิ่ว ซั่วเหลียง (Liu Xueliang) ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายรถยนต์ ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของบีวายดี เปิดเผยว่า บีวายดีหวังว่าเทคโนโลยี EV ของตนจะมีส่วนช่วยอุตสาหกรรม EV ของประเทศไทย
จีนได้กระตุ้นให้ธุรกิจของตนรวมการพัฒนาสีเขียวเข้าไว้ตลอดการลงทุนและความร่วมมือในต่างประเทศ ตามแนวทางที่ออกโดยกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของจีนในปี 2564