เซินเจิ้น, จีน, 24 พ.ย. 2565 /พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
บริษัทหัวเว่ย (Huawei) ลงนามเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางดิจิทัลพาร์ทเนอร์ทูคอนเน็คท์ (Partner2Connect) ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) โดยมีพันธกิจระดับโลกที่จะทำให้คนชนบทราว 120 ล้านคนในกว่า 80 ประเทศ สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ภายในปี 2568
คุณเหลียง หัว (Liang Hua) ประธานหัวเว่ย ประกาศการตัดสินใจดังกล่าวในงานฟอรั่มความยั่งยืน 2022, คอนเน็คทิวิตี้+: สร้างนวัตกรรมเพื่อส่งผลกระทบ (2022 Sustainability Forum, Connectivity+: Innovate for Impact) ของบริษัทฯ โดยฟอรั่มดังกล่าวมีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันว่า นวัตกรรมด้าน ICT สามารถปลดล็อกคุณค่าทางธุรกิจและทางสังคมของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดจนขับเคลื่อนความยั่งยืนในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างไร
ผู้บรรยายในงานประกอบด้วยคณะผู้นำระดับสูงจาก ITU และสหประชาชาติ, รัฐมนตรีและหน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมในกัมพูชา, ไนจีเรีย, บังกลาเทศ และปากีสถาน ตลอดจนเหล่าผู้นำธุรกิจ, คู่ค้า, ผู้เชี่ยวชาญ และลูกค้าจากประเทศจีน, แอฟริกาใต้, เบลเยียม และเยอรมนี
คุณมัลคอล์ม จอห์นสัน (Malcolm Johnson) รองเลขาธิการ ITU กล่าวว่า "เห็นได้ชัดว่าแค่การเชื่อมต่ออย่างเดียวไม่พอ ต้องมีราคาย่อมเยาด้วย คอนเทนต์ต้องมีความเกี่ยวข้องและเป็นภาษาท้องถิ่น ส่วนผู้ใช้ก็ต้องมีทักษะเพื่อให้ใช้งานได้อย่างดีที่สุด ขอขอบคุณหัวเว่ยสำหรับการสนับสนุนโครงการแนวร่วมดิจิทัลพาร์ทเนอร์ทูคอนเน็คท์ (Partner2Connect (P2C) Digital Coalition) และสำหรับคำมั่นสัญญา P2C ที่ประกาศว่าจะสร้างการเชื่อมต่อในพื้นที่หลัก ๆ ในชนบท ตลอดจนปลูกฝังทักษะทางดิจิทัล"
ด้านคุณสิทธารถ จัตโตรจี (Siddharth Chatterjee) ผู้ประสานงานประจำองค์การสหประชาชาติในจีน เรียกร้องให้มี "ความร่วมมือกันในหมู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม" เพื่อยุติ "ความเป็นจริงที่น่าสลดใจ" ของความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่กีดกันประชากรโลกออกไปมากถึง 1 ใน 3
"โลกที่ไม่หยุดนิ่งของเราจำเป็นต้องมีความร่วมมือทางดิจิทัลที่ดีขึ้นโดยด่วน เพื่อใช้ประโยชน์จากศักยภาพของเทคโนโลยีในด้านการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างตำแหน่งงานใหม่ ๆ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ครอบคลุมทุกกลุ่มคน ยุติความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ กระตุ้นการฟื้นตัวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green recovery) และออกแบบโลกของเราใหม่ให้มั่งคั่งและครอบคลุมยิ่งขึ้น ถึงเวลาที่ต้องลงมือทำแล้ว" คุณสิทธารถกล่าว
ขณะเดียวกัน ดร.เหลียงเน้นย้ำในการปราศรัยว่า การเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เสถียรถือเป็นสิทธิ์และข้อกำหนดขั้นพื้นฐานในยุคดิจิทัล
"การเชื่อมต่อจะเป็นมากกว่าแค่เครื่องมือสื่อสารที่สะดวกสบาย การเชื่อมต่อที่ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น คลาวด์และ AI จะช่วยให้ทุกคนเข้าสู่โลกดิจิทัล เข้าถึงข้อมูลและทักษะได้มากขึ้น ได้รับบริการที่ดีขึ้น และมีโอกาสทางธุรกิจกว้างกว่าที่เคย โดยจะเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจในเวลาต่อมา" ดร.เหลียงกล่าว
คุณเฉา หมิง (Cao Ming) ประธานฝ่ายโซลูชันไร้สายของหัวเว่ย กล่าวว่า "หัวเว่ยผสมผสานศักยภาพด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีเต็มรูปแบบของอุปกรณ์, สถานที่, พลังงาน, การสื่อสัญญาณ และเสาอากาศ เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่พบได้ในการติดตั้งในสถานที่แบบดั้งเดิม เช่น ต้นทุนสูง การขนส่งได้จำกัด การไม่มีไฟฟ้า และความท้าทายในการบำรุงรักษา เราได้อัปเกรดโซลูชันรูรอลสตาร์ (RuralStar) และรูรอลลิงก์ (RuralLink) เพื่อขยายเขตสัญญาณให้ครอบคลุมพื้นที่ห่างไกลอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ประชาชน, โรงพยาบาลชุมชน, โรงเรียน, รัฐบาลท้องถิ่น รวมถึงกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางทั้งหลาย ได้สัมผัสประสบการณ์การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูงแบบเดียวกับในเมือง"
ทั้งนี้ ซีรีส์รูรอลสตาร์ทำให้คนชนบทกว่า 60 ล้านคนในกว่า 70 ประเทศ สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้แล้ว
ในกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศแรกที่เป็นพาร์ทเนอร์ P2C ของ ITU นั้น ทางหัวเว่ยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลผ่านกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคม ตลอดจนมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อมอบโอกาสการฝึกอบรมวิชาชีพด้าน ICT ถึง 10,000 รายการในอีก 5 ปีข้างหน้า