ปักกิ่ง, 3 ม.ค. 2566 /พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
เป็นเวลากว่าศตวรรษที่จีนแสวงหาความทันสมัยไม่หยุดหย่อน จาก "ฟื้นฟูประเทศจีน" ไปสู่เป้าหมาย "สี่ทันสมัย" ซึ่งเริ่มขึ้นหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2492 โดยมุ่งเน้นไปที่การเกษตร, อุตสาหกรรม, การป้องกันประเทศ และวิทยาศาสตร์
ปัจจุบันความทันสมัยไม่ได้เป็นเพียงความฝันของชาวจีนอีกต่อไป ในปี 2565 แกนนำรัฐบาลจีนได้เปิดเผยพิมพ์เขียวสำหรับการสร้างประเทศจีนแบบสังคมนิยมสมัยใหม่ในทุกด้าน ตามแนวทางของจีนที่ไม่เหมือนใคร
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน กล่าวปราศรัยเนื่องในวาระขึ้นปีใหม่เมื่อวันเสาร์ (31 ธ.ค.) ว่า "เราได้วาดพิมพ์เขียวขึ้นเพื่อมุ่งมั่นที่จะสร้างประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่และส่งเสริมการฟื้นฟูครั้งใหญ่ของประชาชาติจีนในทุกด้าน ตามเส้นทางสู่ความทันสมัยในแบบของจีน นี่คือเสียงเรียกร้องของกาลเวลาให้เราต้องมุ่งหน้าสู่การเดินทางครั้งใหม่"
สู่ความทันสมัยของจีน
เดือนตุลาคมที่ผ่านมา คำสำคัญที่นิยามเส้นทางสู่การฟื้นฟูของจีนอย่าง "ความทันสมัยของจีน" ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในรายงานที่เสนอต่อสภาแห่งชาติของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC)
ความทันสมัยของจีนมีองค์ประกอบที่เป็นสากลสำหรับกระบวนการความทันสมัยทั้งหมด แต่ก็มีคุณลักษณะเฉพาะสำหรับบริบทประเทศจีนด้วย
ปธน.สีได้เน้นย้ำถึงคุณลักษณะเฉพาะของความทันสมัยของจีน ได้แก่ การทำให้ประชากรจำนวนมหาศาลเข้าสู่ความทันสมัย ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันสำหรับทุกคน ความก้าวหน้าทางวัตถุและวัฒนธรรม-จริยธรรม ความกลมกลืนระหว่างมนุษยชาติกับธรรมชาติ ตลอดจนการพัฒนาอย่างสันติ
จีนมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้ประชาชนกว่า 1.4 พันล้านคนเข้าถึงความทันสมัย ซึ่งเป็นจำนวนประชากรที่มากกว่าของประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมดรวมกัน
จีนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงโดยสนับสนุนความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน เพื่อรับประกันว่าทุกคนจะได้รับส่วนแบ่งที่ยุติธรรมจากความสำเร็จทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำ โดยรายงาน "หนังสือปกน้ำเงินว่าด้วยความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน" (Blue Book of Common Prosperity) เปิดเผยข้อมูลว่า ดัชนีความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของจีนเพิ่มขึ้น 79.3% จาก 24.67 ในปี 2556 สู่ระดับ 44.23 ในปี 2563
จีนกำลังทำงานเพื่อเสริมสร้างรากฐานทางวัตถุสำหรับความทันสมัย ตลอดจนปรับปรุงฐานะเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ในขณะเดียวกัน จีนก็มุ่งมั่นส่งเสริมวัฒนธรรมสังคมนิยมขั้นสูง ปลูกฝังอุดมคติและความเชื่อมั่นที่เข้มแข็ง และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม ดังแสดงให้เห็นจาก 43 รายการจากจีนในรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก (UNESCO Intangible Cultural Heritage) ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดในโลก
จีนยังคงเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตชั้นนำสำหรับเศรษฐกิจโลกในปี 2565 ตามแนวทางปรัชญาการพัฒนาแนวใหม่ ได้แก่ การพัฒนาเชิงนวัตกรรม ประสานงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เปิดกว้าง และแบ่งปัน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตที่ระดับ 3.2% ในปี 2565 ซึ่งสอดคล้องกับอัตราที่คาดการณ์ไว้ในระดับโลก
แกนนำรัฐบาลจีนให้คำมั่นไว้หลายครั้งว่าประเทศจีนจะพัฒนาอย่างสันติ โครงการความมั่นคงโลก (Global Security Initiative) ซึ่งเปิดตัวในเดือนเมษายนที่ผ่านมานับเป็นตัวอย่างหนึ่งของคำมั่นดังกล่าว โดยได้รับเสียงตอบรับสนับสนุนจากกว่า 70 ประเทศแล้ว
ด้วยก้าวที่มั่นคง
พรรคคอมมิวนิสต์จีนมุ่งดำเนินการให้ระบอบสังคมนิยมบรรลุความทันสมัยตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2578 ตลอดจนสร้างจีนให้เป็นประเทศสังคมนิยมที่ยิ่งใหญ่ ทันสมัย รุ่งเรือง เข้มแข็ง เป็นประชาธิปไตย มีความก้าวหน้าทางวัฒนธรรม มีความสามัคคี และสวยงาม ตั้งแต่ปีค.ศ. 2035 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษนี้ (พ.ศ. 2578-2593)
เส้นทางสู่เป้าหมายเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ประเทศจีนมีปรัชญาการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยได้สร้างระบบการศึกษา ประกันสังคม และระบบสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ปธน.สีกล่าวว่า นวัตกรรมคือหัวใจของแรงขับเคลื่อนเบื้องหลังความทันสมัยของจีน การแสวงหาความเป็นอิสระในด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ของจีนแสดงให้เห็นได้จากความสำเร็จมากมายของจีน รวมถึงระบบดาวเทียมนำทางเป่ยโต่ว (Beidou) การสำรวจอวกาศรวมถึงยานสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคาร และการสร้างสถานีอวกาศของจีนเอง ตลอดจนยานดำน้ำลึกแบบมีมนุษย์ควบคุมเฟิ่นโต้วเจ่อ (Fendouzhe) นอกจากนี้ ประเทศจีนยังได้พัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง, เทคโนโลยีการสื่อสาร 5G และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของตนเองอีกด้วย
ในดัชนีนวัตกรรมโลกประจำปี 2565 (Global Innovation Index 2022) ซึ่งจัดทำโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะทางของสหประชาชาติ (UN) จีนขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 11 จากทั้งหมด 132 ประเทศที่ทำการสำรวจ
นอกจากนี้ วิสัยทัศน์ของปธน.สีที่ว่า "น่านน้ำใสและภูเขาเขียวขจีคือทรัพย์สินอันล้ำค่า" ได้ขับเคลื่อนความทันสมัยของจีนโดยให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษยชาติกับธรรมชาติ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนได้ลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 34.4% และให้คำมั่นว่าจะบรรลุการปล่อยคาร์บอนระดับสูงสุดก่อนปี 2573 และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนก่อนปี 2603
ยิ่งไปกว่านั้น จีนย้ำว่าจะเดินหน้าแผนการเปิดพื้นที่มากขึ้นด้วยความลึกที่มากขึ้น เดินตามแนวทางสู่ความทันสมัยในแบบของจีน และแบ่งปันโอกาสการพัฒนาชาติร่วมกับโลก โดยรายงานของสำนักงานศุลกากรจีน (GAC) ระบุว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 การค้าสินค้าของจีนเพิ่มขึ้น 8.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ 38.34 ล้านล้านหยวน (5.5 ล้านล้านดอลลาร์)