ปักกิ่ง--13 กุมภาพันธ์ 2566--พีอาร์นิวส์ไวร์/ดาต้าเซ็ต
นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ประเทศจีนเดินบนเส้นทางที่ไม่เหมือนใครในการต่อสู้กับโควิด-19 สารคดีเรื่อง Through the Storm ได้สรุปเส้นทางการต่อสู้ตลอดสามปีในเนื้อหาความยาว 60 นาที
ผลงานสารคดีของสถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็น (CGTN) เผยแพร่เป็นครั้งแรกทั่วโลกในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ Through the Storm นำเสนอเรื่องราวตั้งแต่การระบาดครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น การฉีดวัคซีนทั่วประเทศ การล็อกดาวน์นครเซี่ยงไฮ้ ไปจนถึงการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งและการฟื้นฟูประเทศ
Through the Storm ตอบคำถามสำคัญสามข้อ ได้แก่ อะไรคือเหตุผลที่จีนเลือกแนวทางที่ไม่เหมือนใครในการต่อสู้กับโควิด จีนดำเนินการอย่างไรบ้างในช่วงเวลาสามปีตั้งแต่ชัยชนะในอู่ฮั่นจนถึงการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง และจีนจะสามารถฟื้นตัวอย่างมั่นคงได้หรือไม่ในปี 2566 นี้
สารคดีนี้ได้เผยคำตอบผ่านสายตาของบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยวิกฤตในด่านหน้า แพทย์ประจำหมู่บ้าน นักสังคมสงเคราะห์ อาสาสมัคร และผู้มีอำนาจตัดสินใจ
โอกาสมากมาย
สิ่งที่จีนเผชิญในช่วงต้นปี 2563 คือสายพันธุ์ดั้งเดิมของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีความรุนแรงและร้ายแรงกว่าสายพันธุ์โอมิครอนในปัจจุบันมาก ขณะนั้นมีเตียงผู้ป่วยวิกฤตเพียง 63,000 เตียงสำหรับประชากร 1.4 พันล้านคน แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ดีที่สุดของจีนก็ยังมืดแปดด้านเมื่อต้องเผชิญหน้ากับศัตรูที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน
สถานการณ์เลวร้ายที่เมืองอู่ฮั่นต้องเผชิญอาจเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกทั่วประเทศ แต่ด้วยนโยบายโควิดที่เข้มงวดของจีนจึงสามารถหลีกเลี่ยงภัยพิบัติระดับชาติได้
มีการเพิ่มเตียงผู้ป่วยวิกฤตเกือบ 120,000 เตียงตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาด ส่งผลให้ปัจจุบันจีนมีเตียงผู้ป่วยวิกฤตต่อประชากร 100,000 คน มากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น สเปน และฝรั่งเศส นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ของจีนได้สั่งสมประสบการณ์และทักษะในการจัดการกับโควิดสายพันธุ์โอมิครอน โดยใช้แนวทางการรักษาและเทคนิคการวินิจฉัยโรคที่ได้รับการปรับปรุง ในช่วงระยะเวลาสองปี จีนได้ฉีดวัคซีนให้กับประชากรกว่า 91% โดยเน้นเป็นพิเศษไปที่ผู้สูงอายุ
อุปสรรคนานัปการ
ในช่วงสามปีหลังจากการระบาดครั้งแรก หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปมาก ตั้งแต่การล็อกดาวน์ชุมชนอย่างเข้มงวด การทดสอบ PCR ในวงกว้าง และการจัดตั้งโรงพยาบาลชั่วคราว ประสบการณ์ที่ได้รับและมาตรการที่ใช้ในเมืองอู่ฮั่นได้ถูกนำมาใช้และพัฒนาจนสมบูรณ์แบบ
นับตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2563 มีทั้งหมด 250 วันที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยโควิดรายใหม่ นายแพทย์จง หนานซาน (Zhong Nanshan) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจชั้นนำของจีน ประเมินว่ามีผู้รอดชีวิตกว่า 20 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายต่อต้านโควิดที่เข้มงวดของจีน
ชาวจีนมั่นใจเสมอว่าสามารถเอาชนะไวรัสโควิดได้
ต่อจากสายพันธุ์อัลฟา เดลตา และแกมมา ก็มาถึงสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้เร็วกว่า 70 เท่า แต่มีอาการรุนแรงน้อยลงมาก
การกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องนำมาซึ่งความท้าทายที่มากขึ้น เพื่อเป็นการตอบสนองต่อสถานการณ์ จีนได้ปรับเปลี่ยนมาตรการป้องกันและควบคุมอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งในที่สุดมีการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงนโยบายโควิดครั้งใหญ่ในช่วงปลายปี 2565
กลับเข้าร่องเข้ารอย
ตลอดช่วงการแพร่ระบาด จีนยังคงมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา แม้ว่าทั่วโลกจะเผชิญกับความไม่แน่นอน โรคระบาด และการชะลอตัวภายในประเทศ จีนยังคงสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เฉลี่ยต่อปีที่ 5%
ภาคส่วนสำคัญที่ได้ประโยชน์จากการผ่อนคลายมาตรการต่อต้านโควิดคืออุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยรายรับจากการขายตั๋วในช่วงวันหยุดยาวเจ็ดวันของเทศกาลตรุษจีนอยู่ที่ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ และในช่วงเวลาเดียวกัน มีการเดินทางของผู้โดยสารมากกว่า 300 ล้านครั้งในเครือข่ายการขนส่งทั่วประเทศ สร้างรายได้ 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบเป็นรายปี
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของ GDP จีนในปี 2566 จาก 4.4% เป็น 5.2% ขณะที่มอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) มองบวกยิ่งกว่า โดยปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตเป็น 5.7% ในผลการวิจัยที่เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ 0.3 จุดเปอร์เซ็นต์
แม้ว่าขณะนี้โลกจะค่อย ๆ ฟื้นตัวจากโรคระบาด แต่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ยังคงอยู่ เพื่อสร้างอนาคตที่มั่นคงยิ่งขึ้นสำหรับมวลมนุษยชาติ ทั่วโลกจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือในระดับที่ใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น