เซินเจิ้น, จีน—3 กรกฎาคม 2566—พีอาร์นิวส์ไวร์/ดาต้าเซ็ต
มหกรรมพลังงานดิจิทัลนานาชาติ (International Digital Energy Expo) ประจำปี 2566 ได้เปิดฉากขึ้นที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยในช่วงเช้าของวันเดียวกันนี้ได้มีการจัดฟอรัมหลักขึ้นในหัวข้อการประชุมพลังงานดิจิทัล "มุ่งใช้นวัตกรรมพลังงานดิจิทัลสร้างอนาคตสีเขียว" โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน องค์กรพลังงาน และตัวแทนองค์กรอินเทอร์เน็ตทั้งจากในและต่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเติบโตของระบบไฟฟ้าใหม่ พลังงานใหม่ อุตสาหกรรมการจัดเก็บพลังงาน และอื่น ๆ
ภายในการประชุมนี้ยังมีการประกาศความสำเร็จด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้วย ไม่ว่าจะในเรื่องเครือข่ายการชาร์จ การจัดเก็บ และการปล่อยพลังงาน (1.0), แพลตฟอร์มการจัดการโรงไฟฟ้าเสมือนจริงของเซินเจิ้น (2.0) และรายงานสมุดปกขาวว่าด้วยพลังงานดิจิทัลเซินเจิ้น ประจำปี 2566
หลิว จี้เซิน (Liu Jizhen) นักวิชาการจากสถาบันวิศวกรรมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Engineering) และหัวหน้าห้องปฏิบัติการภาครัฐด้านระบบไฟฟ้าสำรองโดยใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน กล่าวว่า "การนำพลังงานใหม่เข้ามารวมไว้ในโครงข่ายนั้น ทำให้ระบบไฟฟ้าต้องคอยดูความสมดุลระหว่างความต้องการโหลดที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลากับแหล่งพลังงาน ทำให้ต้องเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างไปเลย รวมถึงเปลี่ยนโหมดควบคุมการปฏิบัติงาน การวางแผน การก่อสร้าง และการจัดการด้วย"
เหอ เสี่ยวไป๋ (He Xiaobai) รองประธานของซีเอสจี (CSG) เปิดเผยว่า ซีเอสจีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะบริษัทกริด เพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยจะร่วมมือกับองค์กรด้านพลังงานรายอื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการพัฒนาภาคพลังงาน และสร้างระบบนิเวศร่วมกับอุตสาหกรรมพลังงาน
เหอ หลง (He Long) รองประธานของบีวายดี (BYD) ได้เล่าประวัติความร่วมมือของทางบริษัทกับระบบกริด โดยเมื่อปี 2554 บีวายดีและซีเอสจีได้สร้างโรงไฟฟ้าจัดเก็บพลังงานแบตเตอรี่เซินเจิ้น เป่าชิง (CSG Energy Storage Shenzhen Baoqing Battery Energy Storage Power Station) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้ากักเก็บพลังงานแบบเปลี่ยนโหลดสูงสุด (peak-load-shifting) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้เปิดดำเนินการมากว่า 10 ปีแล้ว และในอนาคตข้างหน้า บีวายดีจะยังคงยึดมั่นในแนวทาง "การคิดแบบโรงไฟฟ้า" เพิ่มความจุเซลล์ ใช้เทคโนโลยีแบบขั้นบันไดแรงดันสูง และนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ผ่านเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานแบบปั๊ม
ดร.มาริโอ้ ฮาอิม (Mario Haim) รองประธานบริษัทชไนเดอร์ อิเล็คทริค (Schneider Electric) เปิดเผยว่า พลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และเป็นช่องทางที่เหมาะสมที่สุดในการลดคาร์บอน เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้มองเห็นการสูญเสียพลังงานที่ก่อนหน้านี้มองไม่เห็นได้ ซึ่งช่วยลดการสูญเสียพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การรวมพลังงานไฟฟ้าและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าด้วยกันจึงเป็นกุญแจสำคัญ เพื่อสร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนมากขึ้น
ซุน เหยา (Sun Yao) ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ซีจีเอ็น นิว เอเนอร์จี โฮลดิงส์ จำกัด (CGN New Energy Holdings Co., Ltd.) และมาร์ซิโอ เชชท์มัน (Marcio Szechtman) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายระบบส่งไฟฟ้าของอีบีอาร์ (EBR) ได้เน้นย้ำความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยคุณซุน เหยา ได้ยกการพยากรณ์ราคาไฟฟ้าเป็นตัวอย่างว่า "เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อให้จัดการได้อย่างแม่นยำ" โดยผู้ผลิตไฟฟ้าแต่ละกลุ่มในตลาดระบบไฟฟ้าที่มีความก้าวหน้าในระดับสากลนั้น มีระบบซื้อขายพลังงานและระบบควบคุมความเสี่ยงของตนเองอยู่แล้ว ขณะที่คุณมาร์ซิโอ เชชท์มัน ได้เข้ามาเน้นความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศในการสร้างระบบส่งกำลังที่มีเสถียรภาพ
ทั้งนี้ เซินเจิ้นเป็นเมืองแรก ๆ ของจีนในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ ปัจจุบันเซินเจิ้นมีองค์กรจัดเก็บพลังงานมากกว่า 7,000 แห่งที่ให้บริการเกี่ยวกับการจัดเก็บพลังงาน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมืองแห่งนี้ได้ประสบความสำเร็จด้านนวัตกรรมครั้งสำคัญมาแล้วมากมาย โดยวางตำแหน่งตัวเองในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลกในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งในฟอรัมนี้ เหล่าผู้เข้าร่วมได้อภิปรายเกี่ยวกับตลาดการกักเก็บพลังงาน เทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานแบบใหม่ ๆ และหัวข้ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแนวคิดผลักดันการเติบโตขององค์กร ส่งเสริมระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่ออุตสาหกรรมการจัดเก็บพลังงานใหม่ และอำนวยความสะดวกในการพัฒนาอุตสาหกรรมการจัดเก็บพลังงานอย่างมีคุณภาพ