ปักกิ่ง--11 กันยายน 2566--พีอาร์นิวส์ไวร์/ดาต้าเซ็ต
การประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ครั้งที่ 43 ภายใต้แนวคิดหลัก "อาเซียนเป็นศูนย์กลาง สรรค์สร้างความเจริญ" (ASEAN Matters: Epicentrum of Growth) ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ได้ปิดฉากลงแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ด้วยผลลัพธ์เชิงบวกมากมาย
นายเกา กิม ฮวน (Kao Kim Hourn) เลขาธิการอาเซียน กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า การกระชับความร่วมมืออาเซียน-จีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองฝ่าย
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
ในการประชุมสุดยอดจีน-อาเซียน ครั้งที่ 26 (26th China-ASEAN Summit) เมื่อวันพุธที่ผ่านมา นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน ได้เรียกร้องให้จีนและประเทศสมาชิกอาเซียนยกระดับการเชื่อมโยง กระชับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน เจรจาความตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียน เวอร์ชัน 3.0 (ACFTA 3.0) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 และยกระดับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 26 (26th ASEAN Plus Three Summit) นายหลี่กล่าวว่า เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ได้มีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ นำมาซึ่งโอกาสใหม่ ๆ สำหรับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
"เราต้องดึงศักยภาพของความตกลงดังกล่าวออกมา พร้อมทั้งส่งเสริมการไหลเวียนของปัจจัยต่าง ๆ อย่างเสรี ตลอดจนขยายและยกระดับการค้าและการลงทุน เราจำเป็นต้องพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ได้รับประโยชน์ร่วมกัน และมีคุณภาพสูง เพื่อก้าวไปสู่การบูรณาการตลาดระดับภูมิภาคที่เปิดกว้างและมีชีวิตชีวามากขึ้น" เขากล่าว
รายนามโครงการความร่วมมือของจีนกับการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน ระบุว่า จีนได้เสนอให้เร่งเจรจาเพื่อยกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน เวอร์ชัน 3.0 (ASEAN-China Free Trade Area 3.0 Upgrade Negotiations) เพื่อให้ได้ข้อสรุปภายในปี 2567
นายสือ จงจวิ้น (Shi Zhongjun) เลขาธิการศูนย์อาเซียน-จีน (ASEAN-China Center) กล่าวว่า ความตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียน เวอร์ชัน 3.0 จะนำประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมมาสู่ประชาชนในท้องถิ่น พร้อมเสริมว่าการดำเนินนโยบายฝ่ายเดียวและการกีดกันทางการค้าที่บางประเทศนอกภูมิภาคกำลังใช้อยู่นั้น มีผลกระทบบางส่วนต่อความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงระหว่างจีนกับอาเซียนด้วย
ความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
ในระหว่างการประชุมสุดยอดจีน-อาเซียน ครั้งที่ 26 ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) กับมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific)
นายหลี่กล่าวเมื่อวันพุธว่า จีนยินดีที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (Belt and Road Forum for International Cooperation) ครั้งที่ 3
ภายใต้กรอบความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง จีนและอาเซียนได้ยกระดับความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานและความร่วมมือระดับภูมิภาค
การรถไฟแห่งประเทศจีน (China Railway) เปิดเผยว่า ณ วันที่ 16 เมษายน เส้นทางรถไฟจีน-ลาว ได้ขนส่งผู้โดยสารรวม 20.09 ล้านครั้ง โดยทางรถไฟในประเทศจีนขนส่งผู้โดยสาร 17.09 ล้านครั้ง และทางรถไฟนอกประเทศจีนอีก 3 ล้านครั้ง นับตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อเดือนธันวาคม 2564
เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นโครงการเรือธงในกัมพูชาภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ได้กลายเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยรองรับโรงงานมากถึง 175 แห่งจนถึงขณะนี้
ผลสำเร็จของความร่วมมือ
ในระหว่างการประชุมสุดยอดจีน-อาเซียน ได้มีการรับรองเอกสารต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการกระชับความร่วมมือทางการเกษตรระหว่างจีนกับอาเซียน, แผนปฏิบัติการว่าด้วยการพัฒนาการเกษตรสีเขียวจีน-อาเซียน (พ.ศ. 2566-2570), โครงการเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีด้านอีคอมเมิร์ซ และความคิดริเริ่มในการร่วมกันดำเนินโครงการส่งเสริมนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน-อาเซียน
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์จีนแสดงให้เห็นว่า มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนสูงถึง 9.753 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 11.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี และพุ่งขึ้น 120% จากระดับของปี 2556
ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม เม็ดเงินลงทุนสะสมระหว่างจีนกับอาเซียนมีมูลค่าสูงกว่า 3.8 แสนล้านดอลลาร์ และจีนได้จัดตั้งบริษัทมากกว่า 6,500 แห่งที่มีการลงทุนโดยตรงในอาเซียน
ความสัมพันธ์อันดีตลอดทศวรรษที่ผ่านมาส่งผลให้อาเซียนก้าวขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับต้น ๆ ของจีนในปี 2563 แซงหน้าสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา
"เมื่อมองไปข้างหน้า ผมคิดว่าการค้าทวิภาคีอาเซียน-จีน จะเติบโตขึ้นสามเท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า และการลงทุนก็จะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน" นายเจาฮารี โอรัตมันกุน (Djauhari Oratmangun) เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศจีน กล่าว