omniture

ซาอุดีอาระเบียค้นพบ "ห้องเก็บเขาสัตว์โบราณ" หลักฐานของการประกอบพิธีกรรม ณ สิ่งก่อสร้างอันน่าพิศวงในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ

The Royal Commission for AlUla
2023-09-12 22:38 118

- รายงานวิจัยสองฉบับที่เพิ่งเผยแพร่แสดงถึงรายละเอียดและความสำคัญของการประกอบพิธีกรรมที่มุสตาติล ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างในยุคหินใหม่ โดยชิ้นส่วนเขาและกะโหลกสัตว์บ่งชี้ว่ามีการทำพิธีกรรมอันซับซ้อนเพื่อแสดงออกถึงความเชื่อที่ฝังรากลึก 

- การวิจัยได้รับการสนับสนุนโดยราชกรรมาธิการอัลอูลา โดยเป็นส่วนหนึ่งของงานภาคสนามที่มีความสำคัญระดับโลก 

- การประชุมสุดยอดโบราณคดีโลกเมืองอัลอูลาครั้งปฐมฤกษ์ ได้รวบรวมผู้นำหลากหลายภาคส่วนมาร่วมการประชุม ซึ่งเปิดฉากขึ้นในวันที่ 13 กันยายน 

อัลอูลา, ซาอุดีอาระเบีย, 12 กันยายน 2566 /PRNewswire/ -- ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีสองครั้งล่าสุดภายใต้การสนับสนุนจากราชกรรมาธิการอัลอูลา (Royal Commission for AlUla หรือ RCU) ได้แสดงให้เห็นว่า คนยุคหินใหม่ที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบียมีการ "ทำพิธีกรรมที่ซับซ้อนและลึกซึ้ง" ในช่วง 6,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช 

 

The team led by Dr Wael Abu-Azizeh excavates the chamber that contained “an exceptional discovery” of skull and horn fragments. Credit: Muhammad Al-Dajani / RCU
The team led by Dr Wael Abu-Azizeh excavates the chamber that contained “an exceptional discovery” of skull and horn fragments. Credit: Muhammad Al-Dajani / RCU

การค้นพบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้เปิดพรมแดนใหม่ในการความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับภูมิหลังทางสังคม วัฒนธรรม และจิตวิญญาณของคนโบราณในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย 

คณะนักวิจัยเน้นย้ำว่า พิธีกรรมดังกล่าวน่าจะกระทำโดยคนหมู่มาก และมีความเป็นไปได้ที่คนโบราณเดินทางมายังสิ่งก่อสร้างหินยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เรียกว่ามุสตาติล (mustatil) เพื่อประกอบพิธีกรรมโดยเฉพาะ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการจาริกแสวงบุญยุคแรกเริ่มที่สุดเท่าที่ทราบ ยิ่งไปกว่านั้น การใช้สัตว์เลี้ยงเป็นเครื่องบูชายังแสดงให้เห็นถึงการทำปศุสัตว์ของชนเผ่าเร่ร่อน และสมาชิกของชนเผ่าอาจสร้างมุสตาติลเหล่านี้เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ทางสังคม และ/หรือ แสดงอาณาเขต 

มุสตาติลคือโครงสร้างกำแพงหินเตี้ย ๆ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางแจ้ง จากการสำรวจทางอากาศ นักวิจัยพบมุสตาติล 1,600 แห่งทั่วภาคเหนือของซาอุดีอาระเบีย แม้ว่าในตอนแรกจะยังไม่ทราบวัตถุประสงค์การใช้งานของสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ แต่การขุดค้นพบนับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมาบ่งชี้ถึงความสำคัญทางพิธีกรรม และช่วยให้เข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการทำพิธีกรรมดังกล่าว 

ผลวิจัยทั้งสองผ่านการทำพิชญพิจารณ์ (Peer Review) และเพิ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ การวิจัยครั้งแรกนำโดย ดร.วาเอล อาบู-อาซิเซห์ (Wael Abu-Azizeh) จากอาร์คีโอเรียนต์ ลาบอราทอรี (Archéorient Laboratory) และมหาวิทยาลัยลียง 2 ในฝรั่งเศส และเผยแพร่ในหนังสือ "เผยภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย" (Revealing Cultural Landscapes in North-West Arabia) ซึ่งมีบรรณาธิการเป็นคณะผู้เชี่ยวชาญที่นำโดย ดร.รีเบกกา ฟูเท (Rebecca Foote) ผู้อำนวยการฝ่ายโบราณคดีของราชกรรมาธิกาอัลอูลา ส่วนการวิจัยอีกครั้งนำโดย ดร.เมลิสซา เคนเนดี (Melissa Kennedy) จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ในออสเตรเลีย และเผยแพร่ในวารสารพลอสวัน (PLoS One) ฉบับเดือนมีนาคม 

การวิจัยโดย ดร.วาเอล อาบู-อาซิเซห์ 

ในปี 2561 ดร.อาบู-อาซิเซห์ เริ่มปฏิบัติงานในนามของออกซ์ฟอร์ด อาร์คีโอโลจี (Oxford Archaeology) โดยขุดค้นพบ "ห้องเก็บเขาสัตว์" (Horn Chamber) ในมุสตาติลแห่งหนึ่ง ณ จุด IDIHA-0000687 ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองอัลอูลา ซึ่งมีอายุเก่าแก่ราว 5,300-5,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ห้องดังกล่าวมีขนาด 3.25 x 0.8 เมตร และอยู่สุดฝั่งตะวันตกของมุสตาติลที่มีขนาด 40 x 12 เมตร ซึ่งเล็กกว่ามุสตาติลส่วนใหญ่ 

ภายใน "ห้องเก็บเขาสัตว์" ดร.อาบู-อาซิเซห์ และทีมงานได้ค้นพบชิ้นส่วนเขาและกะโหลกสัตว์อัดแน่นอยู่ที่ความลึก 20-30 เซนติเมตร ครอบคลุมทั่วห้อง โดยระบุว่าเป็น "การเก็บรวบรวมที่ไม่เหมือนใครและไม่เคยมีมาก่อนในบริบทของยุคหินใหม่ทางตอนเหนือของซาอุดีอาระเบีย" 

ราว 95% ของชิ้นส่วนเขาและกะโหลกมาจากสัตว์เลี้ยง ประกอบด้วยแพะ แกะ วัว และส่วนที่เหลือมาจากสัตว์ป่า เช่น ละมั่ง แพะภูเขานูเบีย และวัวป่าออรอช (บรรพบุรุษของวัวเลี้ยง ซึ่งตอนนี้สูญพันธุ์ไปแล้ว) นอกจากนี้ ภายใต้ชิ้นส่วนดังกล่าวยังมีกิ่งไม้วางไว้เป็นชั้นบาง ๆ บนพื้นผิวหินทรายของห้อง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำพิธีกรรม 

คณะนักวิจัยสรุปว่าชิ้นส่วนเขาและกะโหลกน่าจะนำมารวมกันไว้เพื่อทำพิธีกรรมครั้งเดียว โดยในการจำลองเหตุการณ์ คณะนักวิจัยเชื่อว่าชนเผ่าเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ได้รวบรวมและนำมาบูชาระหว่างประกอบพิธีกรรม ในการเข้ามาประกอบพิธีในห้องเก็บเขาสัตว์ขนาดเล็ก คนโบราณต้องเข้ามาทีละคนผ่านช่องประตูแคบ ๆ และห้องเชื่อมขนาดเล็ก พร้อมด้วยไฟเพื่อทำพิธีบูชาในนามของกลุ่มของตนเอง เครื่องบูชาที่รวบรวมไว้ที่นี่แสดงถึงความเชื่อมแน่นของกลุ่มทางสังคมขนาดใหญ่ 

คณะนักวิจัยระบุว่า "เมื่อพิจารณาจากปริมาณของซากกระดูก ความหลากหลายของพันธุ์สัตว์ และการเก็บรักษาอย่างดีแล้ว ถือได้ว่าเป็นการค้นพบที่พิเศษและไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ทางโบราณคดีของภูมิภาคนี้ อีกทั้งยังเป็นเครื่องแสดงถึงการประกอบพิธีกรรมที่ซับซ้อนและลึกซึ้ง" 

การวิจัยโดย ดร.เมลิสซา เคนเนดี 

ในปี 2562 การวิจัยครั้งที่สองภายใต้การนำของดร.เคนเนดี จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลียในขณะนั้น ได้มีการขุดค้นมุสตาติลที่อยู่ลึกภายในหุบเหวหินทรายทางตะวันออกของเมืองอัลอูลา ณ จุด IDIHA-0008222 และค้นพบห้องเก็บชิ้นส่วนเขาและกะโหลกสัตว์เช่นเดียวกัน โดยมีอายุเก่าแก่ราว 5,200-5,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช แต่มีปริมาณไม่มากเท่า และยังมีความแตกต่างอีกประการ นั่นคือ กระดูกเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะนำมารวบรวมไว้สามหรือสี่ครั้งในหนึ่งหรือสองชั่วอายุคน ไม่ได้ทำในครั้งเดียว 

ชิ้นส่วนเขาและกะโหลกส่วนใหญ่มาจากวัวและแพะ คณะนักวิจัยระบุว่าการค้นพบนี้เป็น "หนึ่งในเครื่องยืนยันแรกสุดว่ามีการเลี้ยงวัวและแพะในภาคเหนือของซาอุดีอาระเบีย" 

ใจกลางสถานที่บูชานี้มีหินตั้งอยู่ ซึ่งเชื่อว่าเป็นจุดศูนย์กลางของการทำพิธีกรรม โดยชิ้นส่วนเขาและกะโหลกส่วนใหญ่รวมกันอยู่รอบหินที่สูง 0.8 เมตร คณะนักวิจัยตีความว่าหินนี้คือเบทิล (betyl) ซึ่งเป็น "สื่อกลางระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนหรือสิ่งแสดงถึงเทพ/เทพี หรือความเชื่อทางศาสนาในยุคหินใหม่ โดยมีการรวบรวมชิ้นส่วนของสัตว์มาเป็นเครื่องบูชา" นับได้ว่าเป็นเบทิลชิ้นแรก ๆ เท่าที่ทราบในคาบสมุทรอาหรับ 

คณะนักวิจัยยังระบุด้วยว่า การใช้สถานที่บูชานี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงระยะเวลาหลายปี "ถือเป็นตัวอย่างแรก ๆ ของ "การจาริกแสวงบุญ" หรือการกลับมาเยือนสถานที่บูชา ซึ่งพบได้ในคาบสมุทรอาหรับจวบจนถึงปัจจุบัน" 

ที่น่าทึ่งคือ คณะนักวิจัยตั้งสมมติฐานว่า การสร้างมุสตาติลอาจมีเหตุผลทางนิเวศวิทยา โดยสภาพภูมิอากาศในซาอุดีอาระเบียที่แห้งแล้งมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงตอนกลางสมัยโฮโลซีน (Middle Holocene Period) ประกอบกับภูมิอากาศขนาดย่อม (Micro Climate) ที่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้การเคลื่อนย้ายและการต้อนสัตว์เป็นสิ่งจำเป็น พิธีกรรมดังกล่าวอาจประกอบขึ้นเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์และขอฝน โดยเป็นไปได้ว่ามุสตาติลตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำ อย่างบริเวณที่เรียกว่าวาดี (wadi) ซึ่งคณะนักวิจัยระบุว่าเป็นหัวข้อสำคัญที่น่าศึกษาวิจัยต่อไปในอนาคต 

ดร.รีเบกกา ฟูเท ผู้อำนวยการฝ่ายโบราณคดีและการวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมของราชกรรมาธิการอัลอูลา กล่าวว่า "ราชกรรมาธิการอัลอูลาได้ดำเนินโครงการวิจัยทางโบราณคดีครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลก โดยทั่วทั้งอัลอูลาและเคย์บาร์ (Khaybar) มีการสำรวจ ขุดเจาะ และโครงการเฉพาะทางที่ดำเนินการอยู่รวม 12 โครงการ ซึ่งกำลังเพิ่มพูนความเข้าใจของเราเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม การใช้ที่ดิน และการประกอบอาชีพในภูมิภาคแห่งนี้ในอดีต ขณะเดียวกัน ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมที่รุ่มรวยก็ได้รับการเปิดเผยออกมา ทั้งพื้นที่ประกอบพิธีศพ มุสตาติล เมืองโบราณ ข้อความจารึกใน 10 ภาษา ศิลปะหิน และการทำเกษตรที่ซับซ้อน ทั้งนี้ อัลอูลาเป็นศูนย์กลางระดับแนวหน้าของกิจกรรมทางโบราณคดี และจะได้รับการส่งเสริมด้วยการประชุมสุดยอดโบราณคดีโลกเมืองอัลอูลาที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก" 

การประชุมสุดยอดโบราณคดีโลกเมืองอัลอูลา 

สถานะของอัลอูลาในฐานะศูนย์กลางของกิจกรรมทางโบราณคดีจะได้รับการยกระดับไปอีกขั้น เนื่องจากราชกรรมาธิการอัลอูลาได้จัดการประชุมสุดยอดโบราณคดีโลกเมืองอัลอูลา (AlUla World Archaeology Summit) ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน 2566 

การประชุมสุดยอดครั้งนี้เป็นเวทีส่งเสริมการพัฒนาโบราณคดีและการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมด้วยการเชื่อมโยงกับศาสตร์แขนงอื่น ๆ โดยรวบรวมผู้นำจากภาควิชาการ ภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และนักโบราณคดีรุ่นใหม่ ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับชุมชนโบราณคดีและช่วยปกป้องประวัติศาสตร์ที่มีร่วมกันแล้ว ยังเปิดโอกาสให้มองเห็นว่าโบราณคดีและมรดกทางวัฒนธรรมในภาพรวม สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้อย่างไรและเช่นไร 

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดครั้งนี้ได้ที่ https://www.worldarchaeologysummit.com  

เกี่ยวกับราชกรรมาธิการอัลอูลา 

ราชกรรมาธิการอัลอูลา (Royal Commission for AlUla หรือ RCU) ก่อตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาในเดือนกรกฎาคมปี 2560 เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเมืองอัลอูลาในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ แผนการระยะยาวของราชกรรมาธิการอัลอูลาคือการพัฒนาเศรษฐกิจและเมืองด้วยความระมัดระวัง รับผิดชอบ และยั่งยืน พร้อมกับอนุรักษ์มรดกทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติในพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมให้เมืองอัลอูลาเป็นจุดหมายปลายทางการอยู่อาศัย ทำงาน และท่องเที่ยว เป้าหมายเหล่านี้ก่อให้เกิดโครงการมากมายทั้งในด้านโบราณคดี การท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา และศิลปะ ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ การสร้างพลังให้กับชุมชน และการอนุรักษ์มรดกตกทอดตามวิสัยทัศน์ปี 2573 หรือ Vision 2030 ของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย 

รูปภาพ - https://mma.prnasia.com/media2/2206896/Royal_Commission_AlUla_1.jpg?p=medium600 
รูปภาพ - https://mma.prnasia.com/media2/2206897/Royal_Commission_AlUla_2.jpg?p=medium600 
รูปภาพ - https://mma.prnasia.com/media2/2206898/Royal_Commission_AlUla_3.jpg?p=medium600 
รูปภาพ - https://mma.prnasia.com/media2/2206899/Royal_Commission_AlUla_4.jpg?p=medium600  

 

At top is a general view of the SU100 platform; at bottom are details of the horn chamber. Credit: Wael Abu-Azizeh et al 2022 / RCU
At top is a general view of the SU100 platform; at bottom are details of the horn chamber. Credit: Wael Abu-Azizeh et al 2022 / RCU

 

The outline of the Kennedy team’s mustatil is at the forefront of this image of the landscape east of AlUla. They describe the location as “essentially hidden in the sandstone canyons”. Credit: Hugh Kennedy, AAKSA / RCU
The outline of the Kennedy team’s mustatil is at the forefront of this image of the landscape east of AlUla. They describe the location as “essentially hidden in the sandstone canyons”. Credit: Hugh Kennedy, AAKSA / RCU

 

In this overview of the Horn Chamber Mustatil (at IDIHA-0000687), SU300 marks the eastern wall of the mustatil, SU200 marks a stone cairn and SU100 marks the 7x2.5m platform containing the horn chamber. The cliff overhang protected the horn chamber from exposure to the elements, which accounts for the exceptional state of preservation. Credit: Wael Abu-Azizeh et al 2022 / RCU
In this overview of the Horn Chamber Mustatil (at IDIHA-0000687), SU300 marks the eastern wall of the mustatil, SU200 marks a stone cairn and SU100 marks the 7x2.5m platform containing the horn chamber. The cliff overhang protected the horn chamber from exposure to the elements, which accounts for the exceptional state of preservation. Credit: Wael Abu-Azizeh et al 2022 / RCU

 

 

Source: The Royal Commission for AlUla
Keywords: Amusement Parks and Tourist Attractions Art Education Entertainment Multimedia/Online/Internet Travel New products/services Survey, Polls & Research