ปักกิ่ง--3 ตุลาคม 2566--พีอาร์นิวส์ไวร์/ดาต้าเซ็ต
เนื่องในเทศกาลไหว้พระจันทร์ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 29 กันยายน บริษัท ไชน่า มีเดีย กรุ๊ป หรือ ซีเอ็มจี (China Media Group หรือ CMG) ได้จัดงานฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์ ซึ่งนำพาชาวจีนจากทั่วทุกมุมโลกมารวมตัวกันเฉลิมฉลองและไหว้พระจันทร์ เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเทศกาลสำคัญนี้
งานฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์ประกอบด้วยการแสดงอันอบอุ่นใจหลายรายการ ผสานบรรยากาศอ้อมกอดอันอบอุ่นของครอบครัว โดยมีการนำเสนอผ่านมุมมองของคนธรรมดาเพื่อสะท้อนชีวิตประจำวันของผู้ชม
การแสดง "วันวานแห่งวัยเยาว์" ถ่ายทอดประสบการณ์ที่เรียบง่ายและมีความสุขในวัยเด็ก ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความงดงามที่แฝงอยู่ในความเรียบง่าย
ขณะเดียวกัน การแสดง "พ่อ" ได้สะท้อนถึงความรักความผูกพันอันลึกซึ้งที่พ่อแม่ทั่วโลกมีต่อลูก
ในปีนี้ ชาวเน็ตได้มาร่วมแชร์ภาพถ่ายกับคุณพ่อพร้อมติดแฮชแท็ก "Bring my Dad to CMG's 2023 Mid-Autumn Festival Gala" โดยภาพเหล่านี้ได้ฉายผ่านจอบนเวทีการแสดงด้วย
นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรก กิจกรรมดังกล่าวก็มียอดชมรวมเกือบ 10 ล้านครั้งแล้ว ขณะที่ชาวเน็ตจำนวนมากได้แชร์ภาพถ่ายอันอบอุ่นหัวใจ ซึ่งแสดงถึงความรักความผูกพันอันลึกซึ้งที่มีต่อพ่อของตนเอง
องค์ประกอบทางวัฒนธรรมภายในงาน
สำหรับงานในปีนี้ยึดองค์ประกอบทางวรรณกรรม 5 ประการ ได้แก่ บทกวี ไวน์ พระจันทร์ น้ำ และไผ่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นภาพทางวัฒนธรรมที่พบได้ทั่วไปในบทกวีจีนโบราณ
ในประวัติศาสตร์จีนโบราณนั้น บทกวีถือเป็นวรรณกรรมชั้นสูงสุด นอกเหนือจากภาษาที่สวยงามและท่วงทำนองที่เสนาะหูแล้ว ยังมีรูปภาพ หรือที่เรียกว่า อี้เซียง (yixiang) ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางศิลปะที่สำคัญในการถ่ายทอดอารมณ์ที่สลับซับซ้อนของกวี
กวีสมัยโบราณส่วนใหญ่ไม่แสดงความรู้สึกออกมาโดยตรง แต่ใช้ทักษะอันช่ำชองในการถ่ายทอดอารมณ์ที่ซ่อนเร้นและความหมายที่ลึกซึ้งผ่านวัตถุที่จับต้องได้ อันเป็นผลมาจากการสังเกตทางศิลปะและมุมมองทางวรรณกรรม
ยกตัวอย่างเช่น ไวน์ในวัฒนธรรมจีนมักเป็นสัญลักษณ์ของการพบปะสังสรรค์ การเฉลิมฉลอง และการดื่มอวยพร จึงไม่ใช่แค่เครื่องดื่มทั่วไป แต่เป็นตัวแทนของความสนุกสนานและการเชื่อมสัมพันธ์กับญาติสนิทมิตรสหาย
ขณะเดียวกัน ดวงจันทร์เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งในวรรณคดีและวัฒนธรรมจีน โดยสะท้อนถึงแนวคิดต่าง ๆ เช่น การกลับมาพบกัน การเปลี่ยนแปลง การเคลื่อนผ่านของกาลเวลา และการหวนรำลึกถึงอดีต
ในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) จาง จิ่วหลิง (Zhang Jiuling) กวีผู้มีชื่อเสียง ได้เขียนบทกลอนไว้ว่า "ยามใดจันทราส่องสว่างเหนือน่านนที ยามนั้นเราใช้เวลาร่วมกันแม้ไกลห่าง" ถ้อยคำเหล่านี้สะท้อนถึงความรู้สึกคิดถึงบ้านอย่างมากของกวีผู้นี้
งานฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์นำเสนอการแสดงต่าง ๆ โดยเน้นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมทั้ง 5 ประการที่หยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์จีน เพื่อสะท้อนถึงอารยธรรมโบราณริมแม่น้ำแยงซี
เพลง "ถามจันทร์พร้อมแก้วไวน์ในมือ" สะท้อนถึงวัฒนธรรมการดื่มไวน์ในประวัติศาสตร์จีน และอีกเพลงหนึ่งคือ "แสงสว่าง" ก็มาจากบทกวีของซูซื่อ (Su Shi) แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ. 960-1127) ซึ่งถ่ายทอดจิตวิญญาณความเด็ดเดี่ยวเข้มแข็งของชาวจีน
ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของความรักและการกลับมาพบกัน
งานฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์จัดขึ้นที่เมืองอี๋ปิน ในมณฑลเสฉวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยเวทีหลักตั้งอยู่ที่อุทยานริมแม่น้ำแยงซี ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำจินซาและแม่น้ำหมินเจียงไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำแยงซีอันยิ่งใหญ่
เมืองอี๋ปิน ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม "เมืองแรกริมฝั่งแม่น้ำแยงซี" มีประวัติศาสตร์การก่อร่างสร้างเมืองมายาวนานกว่า 2,200 ปี รวมถึงสืบสานการปลูกชามายาวนานกว่า 3,000 ปี และประเพณีการหมักเหล้ายาวนานกว่า 4,000 ปี
"เมืองอี๋ปินคือบ้านเกิดบรรพบุรุษผม ผมเพิ่งเคยมาที่ตำบลหลี่จวงเป็นครั้งแรก แต่ก็รู้สึกคุ้นเคยมาก" ฉิน ห่าว (Qin Hao) นักแสดงในงาน กล่าว
"ในวัฒนธรรมจีนนั้น ภาพบางภาพมีนัยสำคัญที่มีความเป็นสากล เช่น ดวงจันทร์ ซึ่งมีความผูกพันกับชาวจีนมาหลายชั่วอายุคนแล้ว" เขากล่าว
เทศกาลไหว้พระจันทร์ถือเป็นช่วงเวลาพิเศษในใจของชาวจีน โดยตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เทศกาลนี้มีความเกี่ยวพันกับตำนาน นิทานพื้นบ้าน และบทกวีของจีน ซึ่งส่งเสริมให้เทศกาลนี้มีความสำคัญทางวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น
เทศกาลนี้ไม่ได้มีเพียงการไหว้พระจันทร์เท่านั้น แต่ยังเป็นช่วงเวลาที่ชาวจีนได้แสดงออกถึงความรักความผูกพันที่มีต่อกัน นับเป็นช่วงเวลาแห่งความรัก ความกตัญญู และการสานสัมพันธ์ในครอบครัวให้ยั่งยืนสืบไป