ปักกิ่ง--10 มิถุนายน 2564--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
ตั้งแต่เข็มทิศ การผลิตกระดาษ การพิมพ์ และดินปืน ซึ่งเป็นสี่นวัตกรรมอันยิ่งใหญ่ของจีนโบราณ มาจนถึงเรือดำน้ำ "เจียวหลง", สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า และยานสำรวจดาวอังคาร "เทียนเหวิน 1" ทั้งหมดนี้ล้วนแสดงให้เห็นว่าชาวจีนมีความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมอย่างไม่หยุดยั้ง
"นวัตกรรมคือจิตวิญญาณที่ขับเคลื่อนความก้าวหน้าของชาติและเป็นขุมพลังอันไร้ขีดจำกัดในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศ นอกจากนั้นยังเป็นส่วนสำคัญของอัตลักษณ์แห่งชนชาติจีนด้วย" ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวในระหว่างพูดคุยกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถโดดเด่น เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2556
เขากล่าวอ้างคำโบราณที่ว่า "หากท่านเปลี่ยนตัวเองได้ในวันนี้ ขอให้ทำต่อไปทุกวัน และท่านจะเป็นคนใหม่ทุกวัน"
ความรุ่งเรืองด้านนวัตกรรม
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จีนมีความก้าวหน้าอย่างมากในการส่งเสริมขีดความสามารถด้านนวัตกรรม โดยความแข็งแกร่งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้รับการยกระดับอย่างต่อเนื่องเมื่อพิจารณาจากปัจจัยชี้วัดสำคัญ
จีนรั้งอันดับ 14 จากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกในการจัดอันดับด้านนวัตกรรมในปี 2563 และเป็นประเทศรายได้ปานกลางเพียงหนึ่งเดียวที่ติดอันดับท็อป 30 เป็นปีที่ 7 จากดัชนีที่จัดทำโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว
"จีนก่อร่างสร้างตัวจนกลายเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม โดยรั้งอันดับต้น ๆ ในปัจจัยชี้วัดสำคัญ เช่น สิทธิบัตร ผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ เครื่องหมายการค้า การออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และการส่งออกผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์" ดัชนีดังกล่าวระบุ
นายหวัง จื่อกัง รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า รัฐบาลกลางได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการวิจัยขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งงบประมาณดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 6.16% ของงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาทั้งหมดในปี 2563
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคาดการณ์ว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วน 60% ในปี 2563
จีนประสบความสำเร็จด้านเทคโนโลยีขั้นสูงมากมายในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยจีนประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในการนำตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับสู่โลกด้วยยานสำรวจดวงจันทร์ "ฉางเอ๋อ 5" นอกจากนี้ จีนได้ส่งยานสำรวจลำแรกไปยังดาวอังคารเป็นที่เรียบร้อย
จีนได้พัฒนาเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่และรถไฟพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic levitation) ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า และ 5G ก็กำลังเติบโตอย่างสดใส
ก้าวขึ้นเป็นผู้นำนวัตกรรมที่พึ่งพาตนเองได้
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2564-2568) และวัตถุประสงค์ระยะยาวถึงปี 2578 ระบุว่า นวัตกรรมควรเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนจีนให้ทันสมัย ขณะเดียวกัน การพัฒนาด้วยตนเองและการพึ่งพาตนเองในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควรได้รับความสำคัญสูงสุดในฐานะปัจจัยสนับสนุนเชิงยุทธศาสตร์
ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดทั่วโลก รวมถึงการกีดกันทางการค้าและลัทธิเอกภาคีนิยม (Unilateralism) ที่เพิ่มมากขึ้น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เน้นย้ำเรื่องการเสริมแกร่งและการพึ่งพาตนเองด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการประชุมเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา
นายสี จิ้นผิง เรียกร้องให้บุคลากรทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนรับผิดชอบในส่วนนี้ และพยายามบรรลุเป้าหมายการเสริมแกร่งและการพึ่งพาตนเองด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้น
เขากล่าวว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยแก้ปัญหาเร่งด่วนที่สุด เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศทั้งในตอนนี้และในระยะยาว
ในขณะที่จีนเปลี่ยนจากโรงงานโลกเป็นนักนวัตกรรมโลก แผนพัฒนาระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 ได้ระบุถึงภาคส่วนที่จีนจะให้ความสำคัญในช่วง 5-15 ปีข้างหน้า ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ สารสนเทศเชิงควอนตัม วงจรรวม ชีวิตและสุขภาพ วิทยาศาสตร์สมอง การเพาะพันธุ์ทางชีวภาพ อวกาศ รวมถึงการสำรวจใต้พิภพและทะเลลึก
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระบุว่า จีนจะลงทุนเพิ่มมากขึ้นในด้านการวิจัยขั้นพื้นฐานตลอดแผนพัฒนาระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 โดยคาดว่างบประมาณในส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8% ของงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาทั้งหมด
ลิงก์: https://www.youtube.com/watch?v=fpJsi0soSNo