เซี่ยงไฮ้, 1 ก.ย. 2565 /พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
ผู่เจียง อินโนเวชัน ฟอรัม (Pujiang Innovation Forum) ครั้งที่ 15 เปิดฉากขึ้น ณ นครเซี่ยงไฮ้ ศูนย์กลางการเงินของจีน เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ "คาร์บอนต่ำ: ภารกิจใหม่สำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมโลก" (Low Carbon: A New Mission for Global Innovation) งานนี้มุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนการพัฒนาคาร์บอนต่ำผ่านนวัตกรรมเทคโนโลยี การสร้างระบบเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คาร์บอนต่ำ และหมุนเวียน ตลอดจนการกระชับความร่วมมือระดับโลกในด้านเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เพื่อร่วมกันจัดทำร่างแผนการใหม่สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วโลก
งานปีนี้จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญกว่า 230 คนจากองค์กรระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยชั้นนำ สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สถาบันนโยบาย บริษัท และนักวิชาการมากกว่า 40 คน จากเกือบ 30 ประเทศและภูมิภาคเข้าร่วมงาน
ผู่เจียง อินโนเวชัน ฟอรัม เป็นการประชุมด้านนวัตกรรม จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2551 โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ และปัจจุบันกลายเป็นเวทีที่สำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระดับโลกในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้วยการรวบรวมความคิดจากทั่วโลก พร้อมทั้งสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สำหรับไฮไลท์ในพิธีเปิด ได้แก่ การเปิดตัว "INNOMATCH" แพลตฟอร์มการจับคู่อุปสงค์และอุปทานเทคโนโลยีทั่วโลกอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมทรัพยากรนวัตกรรมระดับโลก ตอบสนองความต้องการด้านนวัตกรรมขององค์กร และสร้างช่องทางลัดแบบสองทางสำหรับการสร้างผลงานความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ต่อจากนั้นเป็นการประชุมใหญ่ ซึ่งบอร์เก เบรนเด (Borge Brende) ประธานเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum) ได้กล่าวในที่ประชุมว่า เทคโนโลยีเป็นกุญแจสำคัญในการบรรเทาภาวะโลกรวน และนั่นจึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมความมุ่งมั่นของจีนในการส่งเสริมโซลูชันเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงน่าทึ่งมาก
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเผยแพร่รายงานและข้อตกลงความร่วมมือหลายฉบับ เช่น รายงานการวิเคราะห์ "เมืองในอุดมคติ" ประจำปี 2565 โดยนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก รายงานว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนต่ำและคาร์บอนสุทธิ และการวิเคราะห์สถานการณ์การประยุกต์ใช้งานในอนาคต
ขณะที่งานรีเจียนนอล แอนด์ เออร์เบิน ฟอรัม (Regional & Urban Forum) ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 28 สิงหาคม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation Center par Excellence: NICE) ได้เซ็นสัญญากับบริษัทนานาชาติ 6 แห่ง ซึ่งรวมถึง บริษัทอาเรย์มงด์ (ARaymond) ของฝรั่งเศส และบริษัทดูปองท์ (DuPont) ของสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมกันส่งเสริมนวัตกรรมระดับโลก และการพัฒนาเพื่อสิ่งแวดล้อมเชิงบูรณาการอย่างมีคุณภาพ