ปักกิ่ง--14 พฤศจิกายน 2565--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
จีนมุ่งมั่นที่จะสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ เพราะเชื่อว่านี่คือเส้นทางที่ดีที่สุดสำหรับประชากรโลกทุกคน
ดังที่นักปรัชญาจีนโบราณเคยกล่าวไว้ว่า "ทุกชีวิตสามารถเติบโตเคียงข้างกันโดยไม่ทำร้ายกัน และถนนคนละเส้นสามารถวิ่งคู่ขนานกันโดยไม่แทรกแซงกัน"
ในรายงานที่นำเสนอในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้เน้นย้ำว่าจีนยึดมั่นในนโยบายต่างประเทศที่มุ่งส่งเสริมสันติภาพของโลกและการพัฒนาร่วมกันมาโดยตลอด และตอนนี้จีนยังอุทิศตนเพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติด้วย
รายงานระบุว่า ทุกประเทศต้องยึดมั่นในประโยชน์ส่วนรวม อยู่ร่วมกันอย่างปรองดอง และร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย จึงจะมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนและรับประกันความปลอดภัยได้
"อนาคตร่วมกัน" สำหรับทุกคน
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้นำเสนอแนวคิด "ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ" สู่ทั่วโลกเป็นครั้งแรกในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในปี 2556 ณ สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมอสโก (Moscow State Institute of International Relations)
เขากล่าวว่า "มนุษยชาติอาศัยอยู่ในโลกใบเดียวกัน ในเวลาและพื้นที่เดียวกัน ในช่วงที่ประวัติศาสตร์และความเป็นจริงมาบรรจบกัน กลายเป็นประชาคมที่มีโชคชะตาร่วมกันมากขึ้นเรื่อย ๆ และทุกคนต่างก็มีบางส่วนของผู้อื่นในตัวเอง"
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โลกถูกท้าทายด้วยวิกฤตที่ผูกชะตากรรมของชาติต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปจนถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ต้องร่วมมือกัน และดำเนินการร่วมกันอย่างสอดคล้องกัน
ในปี 2565 ผลกระทบร้ายแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปรากฏชัดในสายตาของทุกคน เนื่องจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งได้ทำลายล้างทั่วทุกมุมโลก คลื่นความร้อนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนพัดปกคลุมยุโรป ทำให้เกิดไฟป่าที่ทำลายล้าง ภัยแล้งรุนแรง และผู้เสียชีวิตหลายพันคน ส่วนในปากีสถาน น้ำท่วมรุนแรงได้ทำให้พื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำ และสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน 1.8 ล้านหลัง และในสหรัฐอเมริกา พายุเฮอริเคนที่ทรงพลังได้ทำให้หลายพันครอบครัวต้องไร้ที่อยู่อาศัย
รองศาสตราจารย์แอนโทนี มอเรตติ (Anthony Moretti) จากมหาวิทยาลัยโรเบิร์ต มอร์ริส (Robert Morris University) ในรัฐเพนซิลเวเนีย เขียนบทความให้กับสถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็น (CGTN) โดยระบุว่า "ในการสร้างอนาคตร่วมกัน เราทุกคนต้องท้าทายการตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่ของภาครัฐหรือภาคธุรกิจ"
หนึ่งในเป้าหมายหลักในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ คือการสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ บรรลุความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ซึ่งเป็นแนวคิดที่สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนผ่านโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ที่ริเริ่มโดยจีน
นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2556 โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางได้ส่งเสริมกิจกรรมการค้าและการลงทุนอย่างมหาศาลทั่วโลก โดยมูลค่าการค้าต่อปีระหว่างจีนกับเกือบ 150 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ เพิ่มขึ้นจาก 1.04 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2556 เป็น 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 73% ภายในเวลา 8 ปี
ภายใต้โครงการนี้ จีนได้นำประสบการณ์อันกว้างขวางในด้านการผลิต โทรคมนาคม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และด้านอื่น ๆ มาสู่ภูมิภาคและประเทศที่มีการพัฒนาน้อยกว่า ซึ่งช่วยสร้างตำแหน่งงานใหม่จำนวนมากในท้องถิ่น
รายงานของธนาคารโลกระบุว่า โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางมีศักยภาพในการดึงประชาชน 7.6 ล้านคนให้หลุดพ้นจากความยากจนขั้นรุนแรง และ 32 ล้านคนจากความยากจนระดับปานกลางทั่วโลก พร้อมกับส่งเสริมการค้าราว 2.8-9.7% สำหรับประเทศที่เข้าร่วมโครงการ และราว 1.7-6.2% สำหรับทั่วโลก
นอกจากโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางแล้ว จีนยังเชิญชวนนานาประเทศทั่วโลกให้เข้าร่วมโครงการริเริ่มอีกสองโครงการเพื่อสร้าง "อนาคตร่วมกัน" ได้แก่ แผนการพัฒนาโลก (Global Development Initiative หรือ GDI) และแผนความมั่นคงโลก (Global Security Initiative หรือ GSI)
"เราจะทำงานร่วมกับประชาชนจากทุกประเทศเพื่อสนับสนุนค่านิยมร่วมกันของมนุษยชาติ ได้แก่ สันติภาพ การพัฒนา ความเป็นธรรม ความยุติธรรม ประชาธิปไตย และเสรีภาพ เพื่อปกป้องสันติภาพของโลกและส่งเสริมการพัฒนาโลก ตลอดจนสนับสนุนการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติต่อไป" ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวต่อสื่อมวลชน ณ มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา