ปักกิ่ง, 19 ธ.ค. 2565 /พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
การประชุมระดับสูงในช่วงที่สองของการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (COP 15) ได้ปิดฉากลงแล้วที่เมืองมอนทรีออลของแคนาดา เมื่อวันเสาร์ที่ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมา
นายหวง หรุนฉิว (Huang Runqiu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของจีน และประธาน COP15 เผยว่า การกระชุมดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนกระบวนการเจรจาของ COP15
"จีนจะยังคงสานต่อการปฏิบัติหน้าที่ในขณะดำรงตำแหน่งประธานของ COP15 เพื่อเสริมสร้างการผนึกกำลังจากทุกฝ่าย เพื่อปกปิดช่องว่างและสร้างฉันทามติเพื่อไปให้ถึงจุดมุ่งหมาย นั่นก็คือกรอบการดำเนินงานที่เป็นจริงและมีความสมดุลตามที่ประชาคมระหว่างประเทศคาดหวังไว้" นายหวง กล่าวเสริม
นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวในพิธีเปิดการประชุมระดับสูง ในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า "เราต้องร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ สร้างชุมชนสำหรับทุก ๆ ชีวิตบนโลกใบนี้ และสร้างสรรค์โลกที่สะอาดและงดงามเพื่อเราทุกคน"
นายหวงกล่าวว่า ถ้อยแถลงของปธน.สีได้สร้างแรงบันดาลใจต่อผู้เข้าร่วมประชุม โดยตัวแทนทั้งหมด 190 คน ได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการพัฒนากรอบการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกในช่วงหลังปี 2563 พวกเขาต่างแสดงเจตจำนงทางการเมืองอย่างแรงกล้าเพื่อให้กรอบการดำเนินงานนั้นได้ไปถึงจุดที่มีการยอมรับและได้นำไปปรับใช้
จีนได้ให้การส่งเสริมความก้าวหน้าทางนิเวศวิทยาและการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยปธน.สี กล่าวว่า "เราได้ค้นพบหนทางแห่งการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในแบบฉบับของจีน"
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติได้รับรองแนวคิดริเริ่มส่านชุ่ย (Shan-Shui Initiative) เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศกว่า 10 ล้านเฮกตาร์ทั่วประเทศจีน ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ของโครงการบุกเบิกเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยแนวคิดริเริ่มนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นเรือธงแห่งการฟื้นฟูโลก (World Restoration Flagship) ซึ่งความมุ่งมั่นของโครงการฟื้นฟูนี้ได้รวมเอาโครงการขนาดใหญ่ 75 โครงการเข้าด้วยกัน ตั้งแต่แนวเทือกเขาไปจนถึงชายฝั่งและปากแม่น้ำทั่วประเทศซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลก
นับตั้งแต่เริ่มแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 13 (2559 - 2563) จีนได้ดำเนินโครงการ 44 โครงการจาก แนวคิดริเริ่มส่านชุ่ย ซึ่งสามารถปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศได้มากกว่า 3.5 ล้านเฮกตาร์
จากข้อมูลในสมุดปกขาวว่าด้วยการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ พบว่า นับตั้งแต่ปี 2558 จีนได้จัดทำโครงการนำร่อง 10 โครงการสำหรับระบบอุทยานแห่งชาติ ครอบคลุมพื้นที่ 2.2 ล้านเฮกตาร์ โดยสัตว์ใกล้สูญพันธ์หลายสายพันธุ์ อาทิ แพนด้ายักษ์ และละมั่งธิเบต ต่างได้รับการปกป้องคุ้มครองเป็นอย่างดี นอกจากนี้แล้ว จีนยังได้จัดตั้งเขตสงวนเกือบ 10,000 แห่ง ซึ่งคิดเป็นประมาณ 18% ของพื้นที่ทั้งหมด
จนถึงขณะนี้ สวนพฤกษศาสตร์เกือบ 200 แห่งได้ถูกจัดตั้ง รวมไปถึงเขตช่วยเหลือและเพาะพันธุ์สัตว์ป่าอีก 250 แห่ง ผลคือพืชประมาณ 23,000 สายพันธุ์และสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์มากกว่า 60 สายพันธุ์ล้วนได้รับการอนุรักษ์
ปธน.สี กล่าวอีกว่า จีนจะยังคงสานต่อการพัฒนาความก้าวหน้าทางระบบนิเวศต่อไปในอนาคต และได้วางแผนพัฒนาในบริบทของการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ