ฉางโจว, จีน--26 เมษายน 2566--พีอาร์นิวส์ไวร์/ดาต้าเซ็ต
ทรินาแทรกเกอร์ (TrinaTracker) ผู้ให้บริการโซลูชันโซลาร์เซลล์ตามแสงอาทิตย์อัจฉริยะในเครือบริษัท ทรินา โซลาร์ จำกัด (Trina Solar Co., Ltd.) (SHA: 688599) ประกาศว่า ระบบควบคุมโซลาร์เซลล์ตามแสงอาทิตย์ ซูเปอร์แทรก (SuperTrack) ของบริษัท ได้ผ่านการวิเคราะห์ทางเทคนิคจากองค์กรอิสระบุคคลที่สามที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ โดยได้มีการตรวจสอบเทคโนโลยีซูเปอร์แทรกและประเมินผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับโครงการ ซึ่งรายงานระบุว่าเทคโนโลยีซูเปอร์แทรกของทรินาแทรกเกอร์มีศักยภาพในการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้ถึง 3.06%
รายงานการวิเคราะห์ดังกล่าวได้ประเมินวิธีการติดตามแสงอาทิตย์อัจฉริยะของเทคโนโลยีซูเปอร์แทรก และคาดการณ์กำลังการผลิตของโครงการสมมติขนาด 100 เมกะวัตต์ในเมืองคัมปินา ประเทศสเปน โดยพบว่าเทคโนโลยีซูเปอร์แทรกสามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยการจับแสงที่พร่ามัวในช่วงที่มีเมฆมาก และลดการทอดเงาของแผงโซลาร์เซลล์แถวหนึ่งลงบนอีกแถวหนึ่งในโครงการที่ตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่สูงต่ำไม่เท่ากัน
ซูเปอร์แทรกคือระบบควบคุมโซลาร์เซลล์ตามแสงอาทิตย์อัจฉริยะที่ปรับเปลี่ยนได้เอง ซึ่งออกแบบโดยทรินาแทรกเกอร์โดยอาศัยอัลกอริทึม SBA และ STA เพื่อแก้ไขปัญหาการทอดเงาที่เกิดจากสภาพภูมิประเทศที่ลาดเอียง และจับแสงที่พร่ามัวภายใต้สภาวะที่มีเมฆมาก ปัจจุบันมีโครงการจำนวนมากเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีภูมิประเทศซับซ้อน ดังนั้น การใช้ซูเปอร์แทรกในโครงการจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่าวิธีการทำงานของซูเปอร์แทรกมีความสมเหตุสมผลและสอดคล้องกับอัลกอริทึมติดตามแสงอาทิตย์ขั้นสูงอื่น ๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรม
การวิเคราะห์ครั้งนี้ใช้วิธีที่เรียกว่าพีวีซิสต์ (PVsyst) เพื่อจำลองผลของซูเปอร์แทรกที่มีต่อการผลิตไฟฟ้า โดยทั่วไปแล้ว พีวีซิสต์จะวิเคราะห์การทำงานบนพื้นที่ราบเป็นหลักและไม่ได้พิจารณาการสูญเสียพลังงานจากการทอดเงามากพอ แต่การทดสอบโดยบุคคลที่สามในครั้งนี้ มีการคำนวณผลกระทบของความลาดชันในแต่ละทิศทางโดยใช้วิธีการพีวีซิสต์แบบแยกต่างหาก ทำให้ประเมินได้ว่าเทคโนโลยีซูเปอร์แทรกสามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 3.06% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวใกล้เคียงกับการประเมินของทรินาแทรกเกอร์ที่ระดับ 3.28% ซึ่งได้มาจากการจำลองโดยซอฟต์แวร์ SEB ที่พัฒนาขึ้นเอง
รายงานนี้ยังมีการคำนวณความแตกต่างของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยปรับเฉลี่ย (LCOE) ระหว่างระบบโซลาร์เซลล์ตามแสงอาทิตย์แบบแกนเดี่ยวทั่วไปกับระบบโซลาร์เซลล์ตามแสงอาทิตย์เทคโนโลยีซูเปอร์แทรกในโครงการสมมติขนาด 100 เมกะวัตต์ในเมืองคัมปินา ประเทศสเปน โดยผลการทดสอบพบว่า เทคโนโลยีซูเปอร์แทรกช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยปรับเฉลี่ยลง 1.25 ดอลลาร์/เมกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเทียบเท่ากับ 2.79%
ดร. ซุน ข่าย (Sun Kai) หัวหน้าฝ่ายระบบควบคุมโซลาร์เซลล์ตามแสงอาทิตย์อัจฉริยะ กล่าวว่า "ทรินาแทรกเกอร์ภูมิใจที่เทคโนโลยีซูเปอร์แทรกได้รับการรับรองจากองค์กรอิสระว่ามีระบบการทำงานที่เป็นเหตุเป็นผล มีความน่าเชื่อถือสูง และล้ำหน้าในอุตสาหกรรม เราจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อสร้างสรรค์เทคโนโลยีติดตามแสงอาทิตย์อัจฉริยะ พร้อมมอบโซลูชันที่เชื่อถือได้มากที่สุดและเพิ่มมูลค่าอย่างมากให้แก่ลูกค้าของเราทั่วโลก"