ปักกิ่ง--12 พฤษภาคม 2566--พีอาร์นิวส์ไวร์/ดาต้าเซ็ต
นับตั้งแต่จีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับ 5 ประเทศในเอเชียกลางเมื่อ 31 ปีที่แล้ว การแลกเปลี่ยนระดับภูมิภาค รวมถึงการสร้างความร่วมมือในด้านยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจ และความมั่นคง ก็ได้ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ
ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นคาดว่าจะถึงจุดสูงสุดระดับใหม่ในช่วงปลายสัปดาห์หน้า โดยจีนจะจัดการประชุมสุดยอดจีน-เอเชียกลาง (China-Central Asia Summit) ครั้งแรก ณ เมืองซีอาน มณฑลส่านซี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นเมืองที่รู้จักกันดีในฐานะจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายไหมโบราณที่พาดผ่านเอเชียกลางไปยังยุโรป ในโอกาสนี้ กระทรวงการต่างประเทศจีนรายงานว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะเป็นประธานการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ขณะที่ประมุขแห่งรัฐของคาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน จะเข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน
บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่าการรวมตัวของประมุขแห่งรัฐที่กําลังจะเกิดขึ้นนี้ เน้นย้ำถึงข้อเท็จจริงที่ว่าจีนและประเทศในเอเชียกลางมีผลประโยชน์ร่วมกันในวงกว้าง และความร่วมมือระดับภูมิภาคมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นท่ามกลางความปั่นป่วนของโลกที่เพิ่มมากขึ้น
การทูตระดับประมุขแห่งรัฐ
คุณซุน จวงจื่อ (Sun Zhuangzhi) นักวิจัยจากสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences) กล่าวว่า "การทูตระดับประมุขแห่งรัฐเป็นข้อได้เปรียบทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของความร่วมมือรอบด้านระหว่างจีนกับประเทศในเอเชียกลาง"
คุณซุนระบุในบทความล่าสุดที่ตีพิมพ์ผ่านวารสารคอนเทมโพรารี เวิลด์ (Contemporary World) ว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้สามารถส่งเสริมความไว้วางใจซึ่งกันและกันในเชิงกลยุทธ์ สร้างกลไกความร่วมมือ และขจัดอุปสรรคทางการเมืองด้วยการแก้ปัญหาเรื่องความแตกต่าง ขณะเดียวกัน การทูตระดับประมุขแห่งรัฐจะทำให้ประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนซึ่งกันและกันมากขึ้นในเรื่องผลประโยชน์และข้อกังวลสำคัญ ๆ ตลอดจนประสานงานกันในกิจการระหว่างประเทศ ซึ่งสามารถช่วยยกระดับธรรมาภิบาลโลกได้
เมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เป็นประธานการประชุมสุดยอดออนไลน์เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับประเทศในเอเชียกลาง ในเดือนต่อมา ประมุขแห่งรัฐของ 5 ประเทศในเอเชียกลางได้เข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง หลังจากนั้นในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศจีน-เอเชียกลาง ครั้งที่ 3 ในเดือนมิถุนายน ได้มีการตัดสินใจยกระดับการประชุมให้เป็นการประชุมระดับประมุขแห่งรัฐ
ต่อมาประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เดินทางเยือนคาซัคสถานและอุซเบกิสถาน และเข้าร่วมการประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ที่เมืองซามาร์กันต์ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งสําคัญครั้งแรกของผู้นำจีนนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19
บรรดาผู้เชี่ยวชาญระบุว่า กิจกรรมทางการทูตที่เข้มข้นเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าจีนให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียกลาง
คุณเติ้ง หาว (Deng Hao) นักวิจัยจากสถาบันวิเทศศึกษาแห่งประเทศจีน (China Institute of International Studies หรือ CIIS) ระบุว่า ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างจีนกับเอเชียกลางช่วยยกระดับสภาพแวดล้อมเชิงกลยุทธ์และความมั่นคงในภาคตะวันตกของจีน อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมความมั่นคงและการพัฒนาของประเทศในเอเชียกลาง จึงนับเป็นกลยุทธ์ที่ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย
ความร่วมมือหลายส่วนและผลลัพธ์ที่น่าประทับใจ
คุณเติ้งระบุในวารสารไชน่า อินเตอร์เนชันแนล สตัดดีส์ (China International Studies) ว่า จีนประสบความสําเร็จทางการทูตอย่างมากในประเทศแถบเอเชียกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างกลไกความร่วมมือ 3 เสาหลัก ได้แก่ องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศจีน-เอเชียกลาง
คุณเติ้งกล่าวว่า องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อกว่า 2 ทศวรรษที่แล้ว โดยมีพันธกิจในการต่อสู้กับการก่อการร้าย การแบ่งแยกดินแดน และลัทธิหัวรุนแรง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการพัฒนาที่ปลอดภัยและมั่นคงสําหรับประเทศสมาชิก และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ได้เห็นความร่วมมือด้านความมั่นคงที่เพิ่มขึ้นในหลายเวทีระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ตลอดจนสร้างโอกาสในการพัฒนามหาศาลสําหรับภูมิภาคและทั่วโลก
สำหรับข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางนั้น ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้นําเสนอในปี 2556 และมุ่งเน้นไปที่การเชื่อมโยงกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเอเชียกลางให้เป็นช่องทางเชื่อมต่อจีนกับยุโรป ซึ่งจะช่วยส่งเสริมวงกลมเศรษฐกิจของเอเชียและยุโรปต่อไป หลังจากผ่านพ้นไป 10 ปี จีนได้ลงนามในเอกสารความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางกับทุกประเทศในเอเชียกลาง และสร้างผลลัพธ์ที่น่าประทับใจในด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงการอำนวยความสะดวกทางการเงิน
ข้อมูลอย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นว่า มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับประเทศในเอเชียกลางสูงถึง 7.02 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 เท่าเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าในช่วงที่ทั้งสองฝ่ายเพิ่งเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต
คุณอวี้ เสี่ยวสวง (Yu Xiaoshuang) ผู้ช่วยนักวิจัยจากสถาบันวิเทศศึกษาแห่งประเทศจีน กล่าวว่า "ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางทำให้จีนและ 5 ประเทศในเอเชียกลางมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น และการประชุมสุดยอดจีน-เอเชียกลางที่กําลังจะเกิดขึ้นนั้น จะช่วยกำหนดทิศทางให้ทั้ง 6 ประเทศสานต่อมิตรภาพและความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อสร้างประชาคมจีน-เอเชียกลางที่มีอนาคตร่วมกัน"